วันที่นำเข้าข้อมูล 19 ต.ค. 2566
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 8 ต.ค. 2567
หนังสือเดินทางทั่วไป (สำหรับผู้เยาว์หรือผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปี)
ข้อควรรู้ในการทำหนังสือเดินทางเล่มแรกของบุตรที่เกิดในสหรัฐอเมริกา
บุตรที่เกิดในสหรัฐฯ และทำหนังสือเดินทางเป็นครั้งแรกจะต้องยื่นขอมีสูติบัตรไทยกับฝ่ายกงสุล สถานเอกอัครราชทูตฯ หรือสถานกงสุลใหญ่ ให้แล้วเสร็จก่อนจึงจะสามารถยื่นคำร้องขอทำหนังสือเดินทางได้ คลิกที่นี่เพื่อศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขอมีสูติบัตรไทย เมื่อได้รับสูติบัตรไทยแล้ว ควรดำเนินการขอเพิ่มชื่อบุตรเข้าทะเบียนบ้านไทยที่สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอที่มีภูมิลำเนาตั้งอยู่ ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญที่ต้องใช้เป็นเอกสารประกอบในการขอทำหนังสือเดินทางเล่มต่อไป โดยบิดามารดาสามารถดำเนินการเพิ่มชื่อบุตรในทะเบียนบ้านด้วยตนเองหรือทำหนังสือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นดำเนินการแทน คลิกที่นี่เพื่อศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรับรองลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจ |
บุตรที่เกิดในสหรัฐอเมริกาและทำหนังสือเดินทางเป็นครั้งที่สอง
บิดามารดาที่พาบุตรที่เกิดในสหรัฐฯ มาทำหนังสือเดินทางเล่มที่สองจะต้องทำการเพิ่มชื่อบุตรเข้าทะเบียนบ้านไทยมาเรียบร้อยแล้ว หากยังไม่ได้ดำเนินการดังกล่าว จะส่งผลให้ไม่สามารถทำหนังสือเดินทางเล่มที่สองนี้ได้ โดยบิดามารดาสามารถติดต่อสำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอที่มีภูมิลำเนาตั้งอยู่ เพื่อดำเนินการเพิ่มชื่อบุตรในทะเบียนบ้านไทยให้แล้วเสร็จ และนำทะเบียนบ้านที่มีชื่อบุตรมายื่นประกอบการทำหนังสือเดินทางเล่มที่สอง โดยบิดามารดาสามารถดำเนินการเพิ่มชื่อบุตรในทะเบียนบ้านด้วยตนเองหรือทำหนังสือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นดำเนินการแทน คลิกที่นี่เพื่อศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรับรองลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจ |
เอกสารที่ต้องนำมาในกรณีผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 7 ปี (ทำได้เฉพาะแบบ 5 ปี)
1. คำร้องขอหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-passport Application Form) คลิกที่นี่เพื่อดาวน์โหลดแบบฟอร์ม 2. สูติบัตรไทย (หากยังไม่เคยมีสูติบัตรไทย กรุณาดำเนินการขอมีสูติบัตรไทยก่อน ซึ่งสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมโดยคลิกที่นี่) 3. ทะเบียนบ้านที่ระบุชื่อ-สกุล และหมายเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก (ยกเว้นกรณีผู้ขอมีหนังสือเดินทางเล่มแรกและเกิดในสหรัฐฯ) ทั้งนี้ สามารถใช้สำเนาแทนได้ หากไม่ประสงค์ยื่นเอกสารฉบับจริง 4. หนังสือเดินทางฉบับปัจจุบัน (ยกเว้นกรณีผู้ขอมีหนังสือเดินทางเล่มแรก) 5. หนังสือเดินทางหรือบัตรประชาชนไทยของบิดาและมารดาที่มีอายุ 6. ทะเบียนสมรส/ใบปกครองบุตร (ป.ค. 14) หรือทะเบียนหย่าของบิดามารดา 7. ค่าธรรมเนียมการทำหนังสือเดินทาง ชำระด้วย Money Order หรือ Cashier's Check สั่งจ่าย Royal Thai Embassy เท่านั้น (ไม่รับเงินสด เช็คส่วนตัว และบัตรเครดิต)
8. เงินสดค่าไปรษณีย์ 32 ดอลลาร์สหรัฐ 9. บิดามารดาต้องมาแสดงตนต่อหน้าเจ้าหน้าที่เพื่อให้ความยินยอมในการทำหนังสือเดินทางแก่บุตร |
เอกสารที่ต้องนำมาในกรณีผู้เยาว์อายุมากกว่า 7 ปี แต่ยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ (ทำได้เฉพาะแบบ 5 ปี)
1. คำร้องขอหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-passport Application Form) คลิกที่นี่เพื่อดาวน์โหลดแบบฟอร์ม 2. สูติบัตรไทย (หากยังไม่เคยมีสูติบัตรไทย กรุณาดำเนินการขอมีสูติบัตรไทยก่อน ซึ่งสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมโดยคลิกที่นี่) 3. บัตรประจำตัวประชาชนไทยที่มีอายุ และหนังสือเดินทางเล่มปัจจุบัน (หากยังไม่เคยมีบัตรประจำตัวประชาชน ต้องนำทะเบียนบ้านและหลักฐานการศึกษา เช่น บัตรนักเรียนหรือเอกสารที่แสดงว่ากำลังศึกษาอยู่ในสหรัฐฯ ยกเว้นกรณีขอมีหนังสือเดินทางเล่มแรก) 4. หนังสือเดินทางหรือบัตรประจำตัวประชาชนไทยของบิดามารดาที่มีอายุ 5. ทะเบียนสมรส/ใบปกครองบุตร (ป.ค. 14) หรือทะเบียนหย่าของบิดามารดา 6. ค่าธรรมเนียมการทำหนังสือเดินทาง ชำระด้วย Money Order หรือ Cashier's Check สั่งจ่าย Royal Thai Embassy เท่านั้น (ไม่รับเงินสด เช็คส่วนตัว และบัตรเครดิต)
7. เงินสดค่าไปรษณีย์ 32 ดอลลาร์สหรัฐ 8. บิดามารดาต้องมาแสดงตนต่อหน้าเจ้าหน้าที่เพื่อให้ความยินยอมในการทำหนังสือเดินทางแก่บุตร |
หมายเหตุ หากบิดามารดาไม่สามารถมาลงนามให้ความยินยอมให้ผู้เยาว์ทำหนังสือเดินทางต่อหน้าเจ้าหน้าที่ได้ บิดามารดาต้องทำหนังสือมอบอำนาจและให้ความยินยอม (สำหรับทำหนังสือเดินทางให้ผู้เยาว์) โดยต้องไปลงนามต่อหน้าเจ้าหน้าที่ Notary Public เพื่อรับรองลายมือชื่อของบิดาและมารดา โดยในกรณีที่บิดามารดาอาศัยอยู่ที่ประเทศไทย ทั้งบิดาและมารดาต้องทำหนังสือให้ความยินยอม ผ่านทางสำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอ ทั้งนี้ กรณีที่บิดามารดาจดทะเบียนหย่าแล้ว ให้ฝ่ายที่มีอำนาจปกครองบุตรเป็นผู้ลงนามในหนังสือยินยอมแต่เพียงฝ่ายเดียว
|
การยื่นคำร้องขอทำหนังสือเดินทาง
สถานเอกอัครราชทูตฯ แนะนำให้ผู้ประสงค์ขอรับบริการทำหนังสือเดินทางทำนัดหมายในระบบนัดหมายออนไลน์ก่อนเข้ารับบริการเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและความรวดเร็วให้กับผู้ประสงค์ขอรับบริการทำหนังสือเดินทางเอง เนื่องจากท่านจะได้รับการบริการจากเจ้าหน้าที่ตามวันและเวลาที่ท่านได้เลือกไว้ โดยภายหลังจากที่ทำนัดหมายได้สำเร็จ ท่านจะได้รับอีเมลจากระบบตอบรับอัตโนมัติในการยืนยันนัดหมาย ซึ่งในอีเมลจะระบุวันและเวลานัดหมายที่ท่านได้เลือกไว้ อีกทั้งท่านยังจะได้รับ Checklist ของเอกสารที่ท่านต้องนำมาในการใช้ประกอบการยื่นคำร้องฯ ทำให้ท่านสามารถจัดเตรียมเอกสารได้อย่างครบถ้วน เมื่อทำนัดหมายสำเร็จและได้วันและเวลาที่ท่านจะมายื่นคำร้องฯ แล้ว ขอให้ท่านจัดเตรียมเอกสารและเดินทางมาตามที่อยู่ด้านล่างนี้ Royal Thai Embassy (Consular Office) 2300 Kalorama Rd., N.W. Washington D.C. 20008 |
ระยะเวลาดำเนินการ
ท่านจะได้รับหนังสือเดินทางเล่มใหม่ 4-6 สัปดาห์ (นับจากวันที่เจ้าหน้าที่ได้รับคำร้องฯ) |
การรับเล่มหนังสือเดินทาง
1. รับเล่มหนังสือเดินทางผ่านทางไปรษณีย์
2. รับเล่มหนังสือเดินทางด้วยตนเองที่ฝ่ายกงสุลฯ
3. มอบฉันทะให้บุคคลอื่นรับเล่มหนังสือเดินทางแทนที่ฝ่ายกงสุลฯ
4. มอบฉันทะให้บุคคลอื่นรับเล่มหนังสือเดินทางแทนฯ ที่กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ประเทศไทย
|
สามารถอ่านคำถามที่พบบ่อยหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ฝ่ายกงสุล สถานเอกอัครราชทูตฯ (เจ้าหน้าที่หนังสือเดินทาง)
2300 Kalorama Rd., N.W.
Washington, D.C. 20008
หมายเลขโทรศัพท์ (202) 640-5310
อีเมล [email protected]
ฝ่ายกงสุล สถานเอกอัครราชทูตฯ
2300 Kalorama Road, N.W. Washington, D.C. 20008
วันและเวลาทำการ
วันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 09.00-17.00น.
วันหยุดราชการ
วันหยุดราชการ