วันที่นำเข้าข้อมูล 24 มี.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 5 มิ.ย. 2566

| 7,901 view

การเมือง

ความสัมพันธ์ด้านการเมืองไทย-สหรัฐฯ

ด้านการทูต 

ไทยและสหรัฐฯ ได้สถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2376 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยได้มีการลงนามในสนธิสัญญาไมตรีและการพาณิชย์ (Treaty of Amity and Commerce) ระหว่างกันเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2376 (ค.ศ. 1833) ประธานาธิบดีแอนดรูว์ แจ็คสัน (Andrew Jackson) ได้ส่งนายเอ็ดมันด์ รอเบิร์ตส์ (Edmund Roberts) ทูตสหรัฐฯ มายังกรุงเทพฯ โดยมีภารกิจสำคัญคือ การเจรจาจัดทำสนธิสัญญาไมตรีและการพาณิชย์กับไทย ส่วนในด้านการแลกเปลี่ยนผู้แทนทางการทูตนั้น สหรัฐฯ ได้แต่งตั้ง สาธุคุณสตีเฟน แมตตูน (Reverend Stephen Mattoon) เป็นกงสุลประจำสยามคนแรกในเดือนพฤษภาคม 2399 และได้แต่งตั้งนายจอห์น เอ. ฮัลเดอร์แมน (John A. Halderman) เป็นผู้แทนสหรัฐฯ ประจำสยามคนแรก ในตำแหน่งกงสุลใหญ่ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2424 สยามได้แต่งตั้งพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ชุมสาย เป็นราชทูตไทยประจำสหรัฐฯ พระองค์แรกในปี 2430 โดยพระองค์ทรงพำนักอยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ไทยได้เปิดสถานทูตในสหรัฐอเมริกาในปี 2444 ที่อาร์ลิงตัน รัฐเวอร์จิเนีย และได้ย้ายสำนักงานมายังกรุงวอชิงตัน ในปี 2456 ไทยและสหรัฐฯ ได้ยกสถานะความสัมพันธ์เป็นระดับเอกอัครราชทูตในปี 2490 ปัจจุบัน ไทยมีสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน และมีสถานกงสุลใหญ่ 3 แห่ง คือ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครชิคาโก สถานกงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก และสถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ในส่วนของสหรัฐฯ มีสถานเอกอัครราชทูต ที่กรุงเทพฯ และสถานกงสุลใหญ่ ที่จังหวัดเชียงใหม่

การแลกเปลี่ยนการเยือนที่สำคัญระหว่างกัน 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ เยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการระหว่าง 14 มิถุนายน – 14 กรกฎาคม 2503 ในสมัยประธานาธิบดี ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ (Dwight D. Eisenhower) และเสด็จฯ เยือนสหรัฐฯ เป็นครั้งที่ 2 ระหว่าง 6-20 มิถุนายน และ 24-29 มิถุนายน 2510 ในสมัยประธานาธิบดี ลินดอน บี จอห์นสัน (Lyndon B. Johnson) นาย William Jefferson Clinton ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เคยเยือนไทยพร้อมภริยาในฐานะพระราชอาคันตุกะ ระหว่างวันที่ 26-27 พฤศจิกายน 2539 นาย George W. Bush ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และภริยาเคยเยือนไทย 2 ครั้ง ครั้งแรกเยือนไทยในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2546 ก่อนที่จะเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 11 ระหว่างวันที่ 20-21 ตุลาคม 2546 และครั้งที่ 2 ประธานาธิบดีบุชและภริยาเยือนไทยในฐานะแขกของรัฐบาลระหว่างวันที่ 6-7 สิงหาคม 2551 ซึ่งเป็นปีที่ครบรอบ 175 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐฯ และประธานาธิบดีบารัค โอบามา เยือนไทยในฐานะแขกของรัฐบาลไทยเมื่อวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2555

คนไทย-อเมริกันได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ 

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2555 พันโทหญิงลัดดา แทมมี่ ดักเวิร์ธ (Lieutenant Colonel Ladda Tammy Duckworth) ชาวอเมริกันเชื้อสายไทยและเป็นผู้สมัคร จากพรรคเดโมเครตได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเป็น ส.ส.เขต 8 ของมลรัฐอิลลินอยส์ โดยชนะนาย Joe Walsh ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน ด้วยคะแนนสนับสนุนจำนวน 121,298 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 55 ในขณะที่นาย Walsh ได้คะแนน 100,360 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 45 โดยเมื่อปี 2547 พันโทหญิงดักเวิร์ธ ได้รับบาดเจ็บระหว่างทำการบินในสงครามอิรัก ทำให้สูญเสียขาทั้ง 2 ข้าง บาดเจ็บที่แขนขวา และได้รับเหรียญกล้าหาญ Purple Heart และเหรียญประดับเกียรติอีก 2 เหรียญ ต่อมา ได้รับการเสนอชื่อจากประธานาธิบดีโอบามาให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีด้าน Public and Intergovernmental Affairs ของกระทรวงกิจการทหารผ่านศึกของสหรัฐฯ ระหว่างปี 2552-2554 และเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2553 พันโทหญิงดักเวิร์ธได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประถมาภรณ์มงกุฎไทย และเครื่องหมายแสดงความสามารถในการบินของนักบินทหารบก ชั้นที่ 1 จากนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ในฐานะเป็นผู้สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยและมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกา และเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม – 3 กันยายน 2556 พันโทหญิงดักเวิร์ธ ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยโดยได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมาธิการการของสภาผู้แทนราษฎร

่ต่อมาในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เมื่อปี 2557 พันโทหญิงลัดดา แทมมี่ ดักเวิร์ธก็ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาขิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นสมัยที่ 2 ซึ่งจะครบวาระในปี 2559 ในขณะนี้ ส.ส. ลัดดา แทมมี่ ดักเวิร์ธได้ประกาศที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งในฐานะวุฒิสมาชิกในการเลือกตั้งในปี 2559

กลุ่ม Friends of Thailand Caucus ที่รัฐสภาสหรัฐฯ

1. ภูมิหลัง

เมื่อช่วงกลางปี 2552 กระทรวงการต่างประเทศโดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ได้ริเริ่มจัดตั้งกลุ่ม Friends of Thailand Caucus ขึ้นในรัฐสภาสหรัฐฯ โดยทาบทามสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ ที่มีความสนใจเกี่ยวกับไทยให้เข้าร่วม และได้มีการจัดตั้งอย่างเป็นทางการขึ้นเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2552 โดยมี Rep. Earl Blumenauer (D-OR) และ Rep. Donald Manzullo (R-IL) เป็นประธานร่วมของกลุ่ม

2. วัตถุประสงค์

เพื่อให้เป็นกลไกในการพัฒนาและส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ในสาขาต่างๆ และเพื่อเป็นเวทีในการรับฟังและตอบข้อสงสัยในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของไทยที่สหรัฐฯ สนใจหรือมีความห่วงกังวล และยังสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อไทยในหมู่สมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ โดยการเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ และความเห็นในเรื่องที่เกี่ยวกับประเทศไทย ทั้งนี้ การจัดตั้ง country-based caucus ในลักษณะนี้ มีค่อนข้างแพร่หลายในรัฐสภาสหรัฐฯ โดยเฉพาะสำหรับประเทศที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดหรือมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ

3. สถานะล่าสุด

ปัจจุบัน มีสมาชิกทั้งหมด 21 คน แบ่งเป็น จากพรรคเดโมแครต 15 คนและจากพรรครีพับลิกัน 6 คน

4. บทบาทของรัฐสภาสหรัฐฯ ต่อความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ

เนื่องจากรัฐสภาสหรัฐฯ มีบทบาทอย่างมากในการเสนอ ผ่าน แก้ไข และยกเลิกกฎหมายของสหรัฐฯ รวมทั้งการกำหนดท่าทีนโยบายและการตรวจสอบหรือวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของฝ่ายบริหาร ซึ่งรวมถึงกระทรวงการต่างประเทศ การกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงกลาโหมและหน่วยงานอื่นๆ ของสหรัฐฯ ดังนั้น รัฐสภาสหรัฐฯ และสมาชิกรัฐสภาจึงมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการกำหนดนโยบายต่างประเทศหรือเปลี่ยนแปลงทิศทางนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ

ในส่วนของตัวสมาชิกรัฐสภาแต่ละคนนั้น สามารถที่จะริเริ่มร่างกฎหมายหรือริเริ่มการเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมายได้ รวมถึงการมีส่วนในการกำหนดท่าทีหรือหาผู้สนับสนุนแนวคิดทางนโยบายโดยการริเริ่มเสนอร่าง Resolution เพื่อเสนอความเห็นหรือเพื่อแสดง message บางอย่าง ทั้งในเชิงสนับสนุนหรือต่อต้าน เช่น ที่ผ่านมา มีการผ่าน Resolution เพื่อเฉลิมฉลองการขึ้นครองราชย์ครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จฯ พระเจ้าอยู่หัว และเพื่อสดุดีพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่มีส่วนในการส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ หรือ Resolution เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 175 ปี ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ และเพื่อเน้นย้ำถึงความแนบแน่นในความเป็นพันธมิตรหุ้นส่วนระหว่างกัน หรือ Resolution เพื่อแสดงออกซึ่งความปิติยินดีที่สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถทรงเสด็จเยือนสหรัฐฯ เป็นต้น

ทั้งนี้ สมาชิกรัฐสภายังสามารถผ่าน Resolution หรือเสนอให้มีการแก้ไข เพิ่ม หรือออกกฎหมายที่เป็นผลเสียหรือผลดีกับไทยได้ ทั้งในลักษณะที่เป็นการริเริ่มของรัฐสภาสหรัฐฯ เอง หรือเป็นในลักษณะของความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลง แก้ไข หรือวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของฝ่ายบริหาร ดังนั้น การที่ไทยมีความสัมพันธ์อันแนบแน่นและมีการติดต่อชี้แจงทำความเข้าใจกับสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ อย่างสม่ำเสมอจึงอาจสามารถช่วยลดความตึงเครียดหรือความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นได้ในด้านการต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังอาจทำให้ไทยมี leverage ต่อฝ่ายบริหารสหรัฐฯ มากขึ้น เนื่องจากรัฐสภาสหรัฐฯ สามารถเป็นกลไกหรือเวทีเพื่อร้องเรียนหรือชี้แจงประเด็นทางการเมืองและการต่างประเทศในลักษณะที่ตรวจสอบฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ ได้

5. รายชื่อสมาชิกกลุ่ม Friends of Thailand Caucus (FoTC)

พรรคเดโมแครต พรรครีพับลิกัน
1. Rep. Earl Blumenauer (D-OR,3rd) Co-Chair 1. Rep. Adam Kinzinger (R-IL16th) Co-Chair
2. Rep. Tammy Duckworth (D-IL8) Co-Chair 2. Rep. John Carter (R-TX31)
3. Rep. Madeleine Bordallo (D-GU) 3. Rep. Walter Jones (R-NC3)
4. Rep. Andre Carson (D-IN7) 4. Rep. Jeff Miller (R-FL1)
5. Rep. Matthew Cartwright (D-PA17) 5. Rep. Ed Royce (R-CA39)
6. Rep. Judy Chu (D-CA27) 6. Rep. Bill Shuster (R-PA, 9th)
7. Rep. Steve Cohen (D-TN9)  
8. Rep. Gerry Connolly (D-VA11)  
9. Rep. Mike Honda (D-CA17)10.Rep. Steve Israel (D-NY3)  
11. Rep. Joseph Kennedy, III (D-MA4)  
12. Rep. John Larson (D-CT1)13.Rep. Loretta Sanchez (D-CA46)  
14. Rep. Adam Schiff (D-CA28)15. Rep. Chris Van Hollen (D-MD8)  

 

กลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-สหรัฐอเมริกา (Thailand – United States Parliamentarians Friendship Group)

จุดมุ่งหมาย เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างรัฐสภาไทยและรัฐสภาสหรัฐอมริกาและเป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนข่าวสารในวงงานรัฐสภารวมถึงบทบาทของสมาชิกรัฐสภาไทยในเวทีระหว่างประเทศในระดับทวิภาคี

สมาชิก ประกอบด้วย

1. นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล                          ประธาน

2. พลเอกไพโรจน์ พานิชสมัย                 รองประธาน

3. พลเอกไตรรัตน์ รังคะรัตน                    เลขานุการ

4. พลเรือเอกไกรสร จันทร์สุวานิชย์         กรรมการบริหาร

5. พลโทจเรศักดิ์   อานุภาพ                     กรรมการบริหาร

6. นายพรศักดิ์ เจียรณัย                            กรรมการบริหาร

(เลือกตั้งเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2557)

ที่มา: US Watch