สหรัฐอเมริกามีระบอบการปกครองในแบบสหพันธรัฐ (Federal Republic) ที่มีการแบ่งแยกอำนาจออกเป็น 3 ฝ่าย ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ที่แต่ละฝ่ายจะได้รับเลือกในลักษณะที่แตกต่างกัน และมีการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน (check and balance) ดังนี้
ฝ่ายบริหาร
มีประธานาธิบดีเป็นประมุขและเป็นหัวหน้ารัฐบาล (Chief of Executive) ได้รับเลือกจากการเลือกตั้งทั่วไป ร่วมกับรองประธานาธิบดีทุก 4 ปี ในวันอังคารแรกหลังวันจันทร์แรกของเดือนพฤศจิกายน ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งผ่านคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) จำนวน 538 คน ดำรงตำแหน่งไม่เกิน 2 สมัย สมัยละ 4 ปี ประธานาธิบดีจะเป็นผู้ร่างรัฐบัญญัติต่อรัฐสภา และทำหน้าที่เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้ทำสนธิสัญญาต่างๆ ตลอดจนแต่งตั้งผู้พิพากษาเอกอัครราชทูตและตำแหน่งต่างๆของฝ่ายบริหารตั้งแต่ระดับรองผู้ช่วยรัฐมนตรี (Deputy Assistant Secretary) ขึ้นไป
ฝ่ายนิติบัญญัติ
ประกอบด้วย 2 สภา คือ วุฒิสภา มีสมาชิกจากแต่ละมลรัฐ มลรัฐละ 2 คน รวมเป็น 100 คน ดำรงตำแหน่งสมัยละ 6 ปี โดยสมาชิกจำนวน 1 ใน 3 ครบวาระทุก 2 ปี วุฒิสภามีอำนาจให้ความเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบต่อบุคคลที่ประธานาธิบดีเสนอขอแต่งตั้ง รวมทั้งคณะรัฐมนตรี และให้สัตยาบันสนธิสัญญา รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภาโดยตำแหน่ง (President of the Senate) คือนาย Joseph Robinette Biden, Jr., ผู้นำฝ่ายเสียงข้างมาก (Majority Leader) ในวุฒิสภา ได้แก่ นาย Mitch McConnell (R-KY) ผู้นำฝ่ายเสียงข้างน้อย (Minority Leader) ได้แก่ นาย Harry Reid (D-NV) สภาผู้แทนราษฎร มีสมาชิก 435 คน แบ่งตามสัดส่วนของประชากรในมลรัฐ คือ ประชากร 575,000 คน ต่อ สมาชิก 1 คน ดำรงตำแหน่งสมัยละ 2 ปี ประธานสภา (Speaker of the House) ได้แก่ นาย John Boehner (R-OH) ผู้นำฝ่ายเสียงข้างมาก คือ นาย Kevin McCarthy (R-CA) ส่วนผู้นำฝ่ายเสียงข้างน้อย คือ นาง Nancy Pelosi (D-CA)
ฝ่ายตุลาการ
ประกอบด้วย ศาลชั้นต้น (Curcuit Court) ศาลอุทรณ์ (Appeal Court) และศาลฎีกา (Supreme Court) ศาลฎีกามีอำนาจที่จะล้มเลิกกฎหมายใดๆ และการปฏิบัติการของฝ่ายบริหารที่ได้วินิจฉัยแล้วว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลฎีกานั้น ประธานาธิบดีเป็นผู้เสนอชื่อและวุฒิสภาเป็นผู้ให้การรับรอง โดยศาลสูงของสหพันธ์มีผู้พิพากษาทั้งหมด 9 คน ซึ่งตำรงตำแหน่งได้โดยไม่มีการกำหนดวาระ
รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ได้บัญญัติให้อำนาจตามที่ระบุในรัฐธรรมนูญแก่ รัฐสภา (Congress) อันประกอบด้วยวุฒิสภา (Senate) และสภาผู้แทนราษฎร (House of Representatives) ผู้ก่อตั้งสหรัฐฯ ต้องการให้รัฐสภาเป็นสถาบันที่สำคัญที่สุดและมีอำนาจมากที่สุดในการปกครองประเทศ และยกอำนาจของรัฐสภาเสมอกับอำนาจแห่งชาติ พร้อมทั้งกำหนดบทบาทที่ชัดเจนให้กับรัฐสภาในการปกครองประเทศ
มาตราที่ 1 ของรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ได้ให้อำนาจรัฐสภาในการจัดเก็บภาษี การกู้ยืมและใช้จ่ายเงิน การควบคุมการค้าระหว่างรัฐ การตั้งเงินสำรองของประเทศ การประกาศสงคราม การจัดตั้งและสนับสนุนกองทัพ การจัดตั้งระบบศาลยุติธรรม และการอนุมัติกฎหมายทุกฉบับที่จำเป็นและเหมาะสมเพื่อใช้อำนาจในกิจการเหล่านี้ นอกจากนั้น รัฐสภายังสามารถเสนอแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญหรือเรียกประชุมเพื่อการดังกล่าว และมีอำนาจรับรองรัฐใหม่ด้วย
อย่างไรก็ตาม ยังมีอำนาจบางอย่างที่แต่ละสภาสามารถใช้ได้ด้วยตนเอง เช่น สภาผู้แทนราษฎรสามารถเลือกประธานาธิบดีได้ในกรณีที่ไม่มีผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีได้รับคะแนนเสียงข้างมากจากคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) หรือวุฒิสภาสามารถเป็นผู้ให้คำแนะนำและความยินยอมตามที่ได้รับการร้องขอเกี่ยวกับสนธิสัญญาและรับรองการเสนอชื่อบุคคลโดยประธานาธิบดีเพื่อดำรงตำแหน่งในฝ่ายบริหารและตุลาการ
สำหรับในกระบวนการกล่าวโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลเนื่องจากการประพฤติไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง (impeachment) ทั้ง 2 สภาจะดำเนินการร่วมกัน โดยสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจในการกล่าวโทษ (impeach) และวุฒิสภามีอำนาจสอบสวน (try) เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลรวมถึงประธานาธิบดีด้วย การเรียกประชุมรัฐสภาแต่ละสมัยจะเริ่มต้นในวันที่ 3 มกราคม ภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาในเดือนพฤศจิกายนของปีที่ลงท้ายด้วยเลขคู่
ความขัดแย้งระหว่างสถาบันในรอบ 2 ศตวรรษที่ผ่านมา สถาบันทางการเมืองซึ่งมีลักษณะแบ่งแยกอำนาจกันในการเมืองสหรัฐฯ อันได้แก่ รัฐสภา ประธานาธิบดีและฝ่ายบริหาร และศาลสูงและกระบวนการยุติธรรม ต่างแข่งขันกันเพื่อช่วงชิงอำนาจและบทบาทที่โดดเด่นในการปกครองซึ่งเป็นลักษณะที่ผู้ก่อตั้งสหรัฐฯ วางรากฐานไว้ โดยในการร่างรัฐธรรมนูญพวกเขาได้พยายามสร้างผลประโยชน์ที่ตรงข้ามกันและความเป็นคู่แข่งกันระหว่างสถาบันการเมืองทั้ง 3 เพราะต้องการให้มีการแบ่งแยกอำนาจ (separation of power) และการตรวจสอบและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน (check and balance) ที่ผ่านมาสถาบันทั้ง 3 ต่างผลัดกันมีอำนาจหรือบทบาทสำคัญในการเมืองสหรัฐฯ โดยส่วนมากรัฐสภาจะมีอำนาจมากที่สุด รองลงมาได้แก่สถาบันประธานาธิบดีและในบางครั้งศาลสูงก็ขึ้นมามีบทบาทสำคัญด้วย
กระบวนการออกนโยบายตลอดช่วงศตวรรษที่ 20 รัฐสภายอมให้ประธานาธิบดีและฝ่ายบริหารครองบทบาทนำในการออกนโยบายระดับชาติ โดยส่วนมากรัฐสภาจะเป็นฝ่ายตอบรับแนวนโยบายและร่างงบประมาณที่เสนอโดยประธานาธิบดี หน่วยงานฝ่ายบริหารหรือกลุ่มผลประโยชน์ อย่างไรก็ตาม รัฐสภาไม่เพียงแต่เป็นผู้ให้รับรองหรือเป็นตรายางให้กับข้อเสนอนโยบายเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทที่เป็นอิสระในกระบวนการออกนโยบายอันได้แก่บทบาทในการให้ความเห็นอีกด้วย กล่าวคือ รัฐสภาสามารถยอมรับ ปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติม หรือปฏิเสธ นโยบายหรือการของบประมาณที่เสนอโดยฝ่ายอื่นได้
ในกระบวนการออกนโยบาย รัฐสภาสามารถให้ความเห็นที่จะสนับสนุนหรือขัดขวางข้อเสนอนโยบายของประธานาธิดีได้ง่ายกว่าริเริ่มนโยบายเสียเอง ทั้งนี้ เพราะรัฐสภามีอำนาจระงับข้อเสนอนโยบายของประธานาธิบดี ปฏิเสธการขอใช้งบประมาณ หน่วงเวลาหรือปฏิเสธการแต่งตั้งบุคคลโดยประธานาธิบดี ตรวจสอบหน่วยงานฝ่ายบริหาร จัดคณะกรรมการเพื่อเปิดเผยการกระทำผิด และระงับการทำงานฝ่ายบริหารอย่างทั่วไปได้ รัฐสภาสามารถตรวจสอบและตั้งคำถามต่อผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้พิพากษาศาลสูงและผู้พิพากษาศาลส่วนกลาง (federal courts) สามารถบัญญัติการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการยุติธรรมในศาลส่วนกลาง และสามารถพยายามกลับ (reverse) คำพิพากษาของศาลโดยการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญได้ นอกจากนั้น รัฐสภายังสามารถขู่ว่าจะกล่าวโทษ (threaten to impeach) ประธานาธิบดีหรือผู้พิพากษาได้ด้วย อย่างไรก็ตาม บทบาทของรัฐสภาในกระบวนการออกนโยบายมักมีลักษณะตั้งรับและขัดขวางมากกว่าและโดยส่วนมากจะแสดงออกมาในรูปแบบของการอภิปราย
อำนาจรัฐสภาที่แบ่งแยกระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาในการเมืองสหรัฐฯ สถาบันรัฐสภาไม่เพียงแต่แบ่งแยกอำนาจกับฝ่ายบริหารและตุลาการเท่านั้น แต่ยังต้องแบ่งแยกอำนาจภายในรัฐสภาด้วยกันเองด้วย ผู้ร่างรัฐธรรมนูญยึดแนวคิดของเบนจามิน แฟรงคลิน ที่ว่าสภานิติบัญญัติควรมีการแบ่งแยกอำนาจ โดยฝ่ายหนึ่งควรดูแลและควบคุมอีกฝ่ายหนึ่ง และควรตอบสนองความต้องการของฝ่ายนั้นๆ พร้อมทั้งแก้ไขข้อผิดพลาดของกันและกันได้ในกรณีที่มีการกระทำผิดร้ายแรงหรือกระทำการที่ไม่ถูกต้อง รัฐสภาสหรัฐฯ จึงถูกออกแบบให้มีลักษณะ 2 สภา (bicameral) ที่ประกอบด้วยวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรแม้ว่าโดยทั่วไปแล้วจะไม่สามารถผ่านกฎหมายหรือนำงบประมาณออกใช้ได้หากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาไม่ผ่าน identical laws อย่างไรก็ตาม สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภามีการแบ่งเขตเลือกตั้งและวาระการดำรงตำแหน่งที่แตกต่างกันมาก กล่าวคือ สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกที่มีสิทธิโวต 435 คน ซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากเขตเลือกตั้งในแต่ละมลรัฐที่จัดแบ่งตามจำนวนประชากรที่เท่าๆ กัน นอกจากนั้น สภาผู้แทนราษฏรยังประกอบด้วยตัวแทนที่ไม่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจาก ปอโตริโก ดัสทริคท์ ออฟ โคลัมเบีย เวอร์จินไอส์แลนด์ และอเมริกัน ซามัว โดยสมาชิกสภาผู้แทนฯ มาจากการเลือกตั้งทุกๆ 2 ปี ส่วนสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีวาระ 2 ปี ถูกออกแบบให้ตอบสนองความรู้สึกนึกคิดของประชาชนได้มากกว่า โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมักจะอ้างถึงสภาของตนในนามสภาของประชาชน (the peoples House) ส่วนวุฒิสภาซึ่งมีสมาชิกวาระ 6 ปีถูกออกแบบให้มีขนาดเล็กกว่า แต่มีบทบาทเน้นในการให้คำปรึกษาหารือมากกว่า นอกจากนั้น วุฒิสภายังสามารถใช้อำนาจจำนวนหนึ่งซึ่งสภาผู้แทนฯ ไม่มี คืออำนาจในการให้สัตยาบันสนธิสัญญาและอำนาจรับรองผู้พิพากษา เอกอัครราชทูต สมาชิกคณะรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของฝ่ายบริหาร
การเลือกตั้งขั้นต้นภายในพรรคการเมือง (พรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน) มี 2 แบบ คือ แบบ Caucus และ Primary โดยมีเพียง 12 มลรัฐ และ 3 เขตที่ใช้รูปแบบการเลือกตั้งแบบ Caucus ในขณะที่มลรัฐส่วนมากใช้รูปแบบ Primary การเลือกตั้งทั้งสองแบบมีเป้าหมายที่จะกำหนดจำนวนคณะผู้เลือกตั้ง (delegates) ที่จะไปลงคะแนนเลือกตัวแทนพรรคเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการประชุมใหญ่ของแต่ละพรรค โดยในการเลือกตั้งแบบ Caucus ผู้สมัครแต่ละคนจะได้จำนวนคณะผู้เลือกตั้งตามสัดส่วนของคะแนนเสียงสนับสนุนที่ได้ ในขณะที่การเลือกตั้งแบบ Primary ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนเสียงสูงที่สุดจะได้จำนวนคณะผู้เลือกตั้งของรัฐนั้นไปทั้งหมด ทั้งนี้ จำนวนคณะผู้เลือกตั้งของแต่ละรัฐจะแตกต่างกันไป รวมทั้งสิ้น 4,322 คน ดังนั้น ผู้ที่จะได้เป็นตัวแทนพรรคลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีต้องได้จำนวนคณะผู้เลือกตั้งอย่างน้อย 2,162 คน
ภายหลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้งขั้นต้นภายในพรรคที่จัดขึ้นในทุกรัฐแล้ว คณะกรรมการพรรคแห่งชาติ ทั้ง Democrat National Committee และ Republican National Committee จะกำหนดจัดให้มีการประชุมใหญ่ของพรรค (National Convention) เพื่อให้คณะผู้เลือกตั้งลงมติยืนยันเลือกบุคคลที่จะมาการเป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการของพรรคเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดี จึงนับว่าเป็นการสิ้นสุดกระบวนการเลือกตั้งขึ้นต้น (primary election) เพื่อเริ่มต้นสู่กระบวนการเลือกตั้งทั่วไป (general election)
แม้ว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนสหรัฐฯ แต่ในกระบวนการเลือกตั้งเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม โดยประชาชนเป็นผู้เลือกคณะผู้เลือกตั้ง หรือ Electoral College ซึ่งคณะผู้เลือกตั้งมีทั้งหมด 538 คน (จำนวน Electoral College กำหนดจากจำนวนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 435 คน วุฒิสมาชิก 100 คน และผู้เลือกตั้งจากกรุง Washington D.C. จำนวน 3 คน)
การเลือก Electoral College นั้น ในแต่ละมลรัฐ แต่ละพรรคจะเลือกสรรชุด “คณะผู้เลือกตั้ง” ของตนไว้ก่อน ในวันเลือกตั้ง หากประชาชนต้องการที่จะเลือกผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคใดก็ให้เลือกจากผู้สมัคร Electoral College พรรคนั้น ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใดได้รับคะแนนเสียงข้างจากประชาชนมาก จะได้จำนวนคณะผู้เลือกตั้งทั้งชุดที่พรรคได้เตรียมได้ เรียกว่า winner-take-all’s system
ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีนั้นผู้ที่จะเป็นประธานาธิบดีจะต้องได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนคณะผู้เลือกตั้งทั้งหมด คือ ต้องได้รับคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้ง เกิน 270 เสียง ทั้งนี้ หลังจากเสร็จสิ้นการเลือกตั้งประธานาธิบดี ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีจะเข้าร่วมพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 ม.ค. ของปีถัดจากปีที่มีการเลือกตั้ง
ที่มา: US Watch
ฝ่ายกงสุล สถานเอกอัครราชทูตฯ
2300 Kalorama Road, N.W. Washington, D.C. 20008
วันและเวลาทำการ
วันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 09.00-17.00น.
วันหยุดราชการ
วันหยุดราชการ