วันที่นำเข้าข้อมูล 10 ส.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 2 ม.ค. 2567

| 8,722 view

การขอทำหนังสือเดินทางทั่วไปสำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 20 ปี

PP_Regular_icon

 

ข้อควรรู้ในการขอทำหนังสือเดินทาง

1. ผู้ประสงค์ขอทำหนังสือเดินทาง ต้องมาดำเนินการด้วยตนเองเท่านั้น เนื่องจากจะมีการบันทึกข้อมูลชีวภาพ เช่น บันทึกลายนิ้วมือ ภาพถ่าย และม่านตา

2. หลีกเลี่ยงการใส่ Contact lens แบบสี ในวันที่ขอรับบริการ

3. หนังสือเดินทางมีอายุ 5 ปี และ 10 ปี และไม่สามารถต่ออายุหนังสือเดินทางในเล่มได้ (หากเล่มเดิมหมดอายุ ต้องทำเล่มใหม่เท่านั้น)

4. ชื่อ-สกุล ในหนังสือเดินทางเล่มใหม่ จะเป็นไปตามฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรที่ประเทศไทย ซึ่งอาจไม่ต้องกับชื่อ-สกุล ในหนังสือเดินทางฯ เล่มเดิม

5. กรณีที่ต้องการให้นามสกุลในหนังสือเดินทางเป็นนามสกุลหลังการสมรสหรือหย่า จะต้องดำเนินการแก้ไขข้อมูลนามสกุลในระบบทะเบียนราษฎรที่ประเทศไทยก่อน (แก้ไขที่เขตหรืออำเภอที่ผู้ประสงค์ขอทำหนังสือเดินทางมีชื่ออยู่)

6. ผู้ที่เกิดในสหรัฐฯ จะมีสิทธิขอทำหนังสือเดินทางได้เพียงหนึ่งครั้ง เพื่อที่จะเดินทางกลับประเทศไทยและเอาชื่อเข้าทะเบียนบ้านและทำบัตรประจำตัวประชาชน หากได้รับหนังสือเดินทางเล่มแรกแล้วและไม่เดินทางกลับประเทศไทยเพื่อไปดำเนินการข้างต้น จะส่งผลให้กระทรวงฯ ไม่อนุมัติทำหนังสือเดินทางเล่มที่สอง จนกว่าจะนำชื่อเข้าทะเบียนบ้านและนำเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ได้

7. ผู้ประสงค์ขอทำหนังสือเดินทางที่อายุเกิน 20 ปีบริบูรณ์ และเคยมีหนังสือเดินทางไทยมาแล้ว หากยังไม่เคยทำบัตรประจำตัวประชาชน ท่านจะไม่สามารถทำหนังสือเดินทางเล่มต่อไปได้ และจะต้องเดินทางกลับไปติดต่อขอทำบัตรฯ ใบแรก ณ ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขตในประเทศไทยให้แล้วเสร็จ ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ สามารถออกเอกสารเดินทางฉุกเฉิน หรือ Emergency Travel Document (ETD) ให้ท่านเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการเดินทางกลับประเทศไทยได้

8. กรณีผู้ประสงค์จะทำหนังสือเดินทางมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกลาง หรือติดท.ร. 97 จะไม่สามารถยื่นคำร้องขอทำหนังสือเดินทางในต่างประเทศได้ โดยจะต้องไปดำเนินการนำชื่ออกจากทะเบียนบ้านกลางที่สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอที่มีภูมิลำเนาอยู่เพื่อขอนำชื่อเข้าทะเบียนบ้านแบบปกติก่อน ซึ่งสามารถดำเนินการด้วยตนเองหรือทำหนังสือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นไปดำเนินการแทนได้ คลิกที่นี่เพื่อศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรับรองลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจเพื่อนำชื่อออกจากทะเบียนบ้านกลาง

หมายเหตุ หากมีเหตุจำเป็นที่ต้องเดินทางเร่งด่วน เช่น ญาติป่วย หรือ ได้รับหมายศาลเรียกกลับไปขึ้นศาลโดยด่วน ท่านสามารถยื่นขอหนังสือเดินทางฉุกเฉินหรือเอกสารเดินทางฉุกเฉินได้ โดยสามารถคลิกดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่

 

การยื่นคำร้องขอทำหนังสือเดินทาง

สถานเอกอัครราชทูตฯ แนะนำให้ผู้ประสงค์ขอรับบริการทำหนังสือเดินทางทำนัดหมายในระบบนัดหมายออนไลน์ก่อนเข้ารับบริการเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและความรวดเร็วให้กับผู้ประสงค์ขอรับบริการทำหนังสือเดินทางเอง เนื่องจากท่านจะได้รับการบริการจากเจ้าหน้าที่ตามวันและเวลาที่ท่านได้เลือกไว้ โดยภายหลังจากที่ทำนัดหมายได้สำเร็จ ท่านจะได้รับอีเมลจากระบบตอบรับอัตโนมัติในการยืนยันนัดหมาย ซึ่งในอีเมลจะระบุวันและเวลานัดหมายที่ท่านได้เลือกไว้ อีกทั้งท่านยังจะได้รับ Checklist ของเอกสารที่ท่านต้องนำมาในการใช้ประกอบการยื่นคำร้องฯ ทำให้ท่านสามารถจัดเตรียมเอกสารได้อย่างครบถ้วน 

PP_Appointment_Button

เมื่อทำนัดหมายสำเร็จและได้วันและเวลาที่ท่านจะมายื่นคำร้องฯ แล้ว ขอให้ท่านจัดเตรียมเอกสารและเดินทางมาตามที่อยู่ด้านล่างนี้

Royal Thai Embassy (Consular Office)

2300 Kalorama Rd., 

N.W. Washington D.C. 20008

 

เอกสารที่ต้องใช้ในการขอทำหนังสือเดินทางกรณีหนังสือเดินทางใกล้หมดอายุหรือหมดอายุแล้ว

1. คำร้องขอหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-passport Application Form) คลิกที่นี่เพื่อดาวน์โหลดแบบฟอร์ม

2. บัตรประจำตัวประชาชนไทยที่มีอายุ

3. ค่าธรรมเนียมการทำหนังสือเดินทาง ชำระด้วย Money Order หรือ Cashier's Check สั่งจ่าย Royal Thai Embassy เท่านั้น (ไม่รับเงินสด เช็คส่วนตัว และบัตรเครดิต) 

  • หนังสือเดินทางบุคคลทั่วไปแบบมีอายุ 5 ปี ค่าธรรมเนียม 37 ดอลลาร์สหรัฐ
  • หนังสือเดินทางบุคคลทั่วไปแบบมีอายุ 10 ปี ค่าธรรมเนียม 55 ดอลลาร์สหรัฐ

4. เงินสดค่าไปรษณีย์ 31 ดอลลาร์สหรัฐ

5. ทะเบียนบ้านที่ระบุชื่อ-สกุล และหมายเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก (เฉพาะกรณีหากเคยมีการเปลี่ยนที่อยู่ที่ประเทศไทย) ทั้งนี้ สามารถใช้สำเนาแทนได้ หากไม่ประสงค์ยื่นเอกสารฉบับจริง

 

เอกสารที่ต้องใช้ในการขอทำหนังสือเดินทางกรณีหนังสือเดินทางสูญหายหรือถูกโจรกรรม

1. คำร้องขอหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-passport Application Form) คลิกที่นี่เพื่อดาวน์โหลดแบบฟอร์ม

2. คำให้การหนังสือเดินทางหาย (Passport Lost Form) คลิกที่นี่เพื่อดาวน์โหลดแบบฟอร์ม

3. ใบแจ้งความจากตำรวจท้องถิ่นในสหรัฐฯ (Police Report) (เฉพาะกรณีหนังสือเดินทางที่หายยังมีอายุ) 

4. บัตรประจำตัวประชาชนไทยที่มีอายุ

5. สำเนาหนังสือเดินทางหน้าที่มีข้อมูลส่วนตัวและรูปถ่าย (หน้าแรก) 1 ชุด

6. หลักฐานอื่น ๆ เพื่อยืนยันสถานที่เกิด เช่น สูติบัตรไทย (เฉพาะกรณีไม่มีสำเนาหน้าหนังสือเดินทาง)

7. ทะเบียนบ้านที่ระบุชื่อ-สกุล และหมายเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก (หากมี) ทั้งนี้ สามารถใช้สำเนาแทนได้ หากไม่ประสงค์ยื่นเอกสารฉบับจริง

8. ค่าธรรมเนียมการทำหนังสือเดินทาง ชำระด้วย Money Order หรือ Cashier's Check สั่งจ่าย Royal Thai Embassy เท่านั้น (ไม่รับเงินสด เช็คส่วนตัว และบัตรเครดิต) 

  • หนังสือเดินทางบุคคลทั่วไปแบบมีอายุ 5 ปี ค่าธรรมเนียม 37 ดอลลาร์สหรัฐ
  • หนังสือเดินทางบุคคลทั่วไปแบบมีอายุ 10 ปี ค่าธรรมเนียม 55 ดอลลาร์สหรัฐ

9. เงินสดค่าไปรษณีย์ 31 ดอลลาร์สหรัฐ

 

เอกสารที่ต้องใช้ในการขอทำหนังสือเดินทางกรณีเปลี่ยนชื่อสกุลในฐานทะเบียนราษฎร

1. คำร้องขอหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-passport Application Form) คลิกที่นี่เพื่อดาวน์โหลดแบบฟอร์ม

2. บัตรประจำตัวประชาชนไทยที่มีอายุ

3. หนังสือเดินทางฉบับปัจจุบัน

4. ทะเบียนบ้านที่ระบุชื่อ-สกุล และหมายเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก (ยกเว้นเล่มแรก) ทั้งนี้ สามารถใช้สำเนาแทนได้ หากไม่ประสงค์ยื่นเอกสารฉบับจริง

5. หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อ/สกุล ที่ออกโดยสำนักงานเขตหรืออำเภอ

6. ค่าธรรมเนียมการทำหนังสือเดินทาง ชำระด้วย Money Order หรือ Cashier's Check สั่งจ่าย Royal Thai Embassy เท่านั้น (ไม่รับเงินสด เช็คส่วนตัว และบัตรเครดิต) 

  • หนังสือเดินทางบุคคลทั่วไปแบบมีอายุ 5 ปี ค่าธรรมเนียม 37 ดอลลาร์สหรัฐ
  • หนังสือเดินทางบุคคลทั่วไปแบบมีอายุ 10 ปี ค่าธรรมเนียม 55 ดอลลาร์สหรัฐ

7. เงินสดค่าไปรษณีย์ 31 ดอลลาร์สหรัฐ

 

ระยะเวลาการดำเนินการ

ท่านจะได้รับหนังสือเดินทางเล่มใหม่ 4-6 สัปดาห์ (นับจากวันที่เจ้าหน้าที่ได้รับคำร้องฯ)

 

การรับเล่มหนังสือเดินทาง

1. รับเล่มหนังสือเดินทางผ่านทางไปรษณีย์

  • นำเงินสดค่าไปรษณียากรมาชำระในวันที่มารับบริการทำหนังสือเดินทางจำนวน 31 ดอลลาร์สหรัฐ โดยฝ่ายกงสุลฯ จะจัดส่งเล่มหนังสือเดินทางกลับแบบ Priority Mail Express Flat Envelope เท่านั้น

2. รับเล่มหนังสือเดินทางด้วยตนเองที่ฝ่ายกงสุลฯ

  • นำใบเสร็จรับเงินและบัตรประจำตัวประชาชนมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ในวันที่มาขอรับเล่มหนังสือเดินทาง

3. มอบฉันทะให้บุคคลอื่นรับเล่มหนังสือเดินทางแทนที่ฝ่ายกงสุลฯ 

  • ระบุชื่อ-นามสกุลของบุคคลที่ประสงค์จะให้รับเล่มหนังสือเดินทางที่ฝ่ายกงสุลฯ ในใบคำร้องขอทำหนังสือเดินทาง

4. มอบฉันทะให้บุคคลอื่นรับเล่มหนังสือเดินทางแทนฯ ที่กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ประเทศไทย

  • ระบุชื่อ-นามสกุลของบุคคลที่ประสงค์จะให้รับเล่มหนังสือเดินทางที่ประเทศไทย ในใบคำร้องขอทำหนังสือเดินทาง
หมายเหตุ ฝ่ายกงสุลฯ ไม่รับผิดชอบหากเล่มหนังสือเดินทางหายไม่ว่ากรณีใดๆ

 

สามารถอ่าน คำถามที่พบบ่อย หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 

ฝ่ายกงสุล สถานเอกอัครราชทูตฯ (เจ้าหน้าที่หนังสือเดินทาง)

2300 Kalorama Rd., N.W. 

Washington, D.C. 20008

หมายเลขโทรศัพท์ (202) 640-5310

อีเมล [email protected]