สาระกงสุลน่ารู้ ฉบับที่ 19/2560 (เปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนนามสกุลดีนะ? สำคัญหรือไม่ อย่างไร? )

สาระกงสุลน่ารู้ ฉบับที่ 19/2560 (เปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนนามสกุลดีนะ? สำคัญหรือไม่ อย่างไร? )

วันที่นำเข้าข้อมูล 31 ม.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 31 ม.ค. 2567

| 1,334 view
สาระกงสุลน่ารู้ ฉบับที่ 19
เปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนนามสกุลดีนะ? สำคัญหรือไม่ อย่างไร?
 
การเปลี่ยนนามสกุลเป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่มีประชาชนให้ความสนใจสอบถามกันเข้ามาค่อนข้างบ่อยสำหรับฝ่ายกงสุลค่ะ หลายๆ ท่านที่สมรสกับชาวต่างชาติ และต้องการเปลี่ยนไปใช้นามสกุลตามสามี หรือไม่เปลี่ยนนั้นไม่มีผลต่อการมีสถานะสมรสเพราะกฏหมายไทยเองก็ยินยอมให้ฝ่ายหญิงใช้นามสกุลเดิม หรือใช้นามสกุลสามีก็ได้
 
ถ้าคุณจดทะเบียนสมรสในต่างประเทศ คุณไม่จำเป็นต้องไปเปลี่ยนเป็นนามสกุลสามี (ทันที) เพราะในหลายๆ ประเทศ เช่น อเมริกา กฎหมายยินยอมให้ฝ่ายหญิงใช้นามสกุลเดิม หรือจะใช้นามสกุลสามีก็ได้ ฉะนั้น คุณสามารถเลือกได้ยกเว้นในกรณีที่ประเทศที่คุณไปอยู่นั้นมีกฎบังคับว่า คุณต้องเลือกถือสัญชาติใดสัญชาติหนึ่ง ไม่ยอมให้ถือสองสัญชาติ อีกกรณีหนึ่งที่เป็นคำถามยอดนิยมที่เข้ามาฝ่ายกงสุลคือ กรณีที่คุณทำกรีนการ์ดเป็นนามสกุลสามี แต่ยังถือพาสปอร์ตไทย เป็นชื่อสกุลเดิม บางคนเกรงว่าเป็นปัญหาเวลาเดินทาง แนะนำว่า เมื่อถึงเวลาที่คุณจะต้องเดินทางให้คุณซื้อตั๋วเครื่องบินเป็นชื่อเดียวกันกับพาสปอร์ต แล้วควรพกสำเนาทะเบียนสมรส ติดกระเป๋าไปด้วย หากเจ้าหน้าที่สอบถามถึงเอกสารอื่นๆ ให้คุณนำสำเนาทะเบียนสมรส หรือกรีนการ์ดให้เจ้าหน้าที่ เป็นการยืนยันว่าเป็นบุคคลคนเดียวกัน เมื่อถึงเวลาที่คุณสามารถสอบเป็นพลเมืองอเมริกัน (ซิติเซ่น) แล้วนั้น คุณสามารถเลือกที่จะใช้นามสกุลตามสามีในเล่มพาสปอร์ตอเมริกันได้ หากจะพูดกันจริงๆ แล้ว การเปลี่ยนนามสกุลให้ตามคู่สมรสนั้น ไม่ได้มีกฎ หรือข้อบังคับตายตัวว่าบุคคลที่สมรสแล้วต้องเปลี่ยนนามสกุลทันที สามารถทำได้ตามสะดวก และถ้าจะหยิบยกข้อดีของการใช้นามสกุลเดิม (ก่อนสมรส) อยู่นั้น ก็คือการที่เอกสารต่างๆ ยังเป็นชื่อสกุลเดิมนั้น คุณไม่ต้องเป็นธุระเปลี่ยนเอกสารทุกอย่างที่มี การเปลี่ยนชื่อในเอกสารต่างๆ นั้นก็มีค่าใช้จ่ายทั้งนั้น และคุณยังสามารถทำนิติกรรมหลายๆ อย่างได้ด้วยตนเองค่ะ ถ้าถามว่า ....ความจำเป็นที่ต้องแก้ไขชื่อสกุลในเอกสารมีเพียงอย่างเดียวคือ ยื่นคำขอเปลี่ยนบัตรประชาชนไทย พร้อมขอแก้ไขชื่อสกุล ในทะเบียนบ้าน (ประเทศไทย) ในคราวเดียวกัน ส่วนเอกสารอื่นๆ เช่น บัญชีธนาคาร ใบขับขี่ ประกันสังคม ฯลฯ ไม่จำเป็นต้องรีบแก้ (ถ้ายังไม่สะดวก) เนื่องจากเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ยึดหลักบัตรประชาชนสามารถยืนยันตัวบุคคลได้เสมอ
ขั้นตอนการเปลี่ยนนามสกุล :
 
• เปลี่ยนเนื่องจากสมรสหรือหย่าไม่สามารถทำได้ที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ผู้ร้องจะต้องทำการยื่นขอบันทึกสถานะแห่งครอบครัวและขอเปลี่ยนนามสกุลในทะเบียนบ้านที่อำเภอหรือเขตที่ตนเองมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านที่ประเทศไทย โดยนำทะเบียนสมรส/หย่าสหรัฐฯ ที่ผ่านการรับรอง (ดูรายละเอียดด้านล่าง) ไปด้วย หลังจากนั้นจึงจะสามารถทำหนังสือเดินทางหรือบัตรประชาชนเพื่อให้นามสกุลเป็นปัจจุบัน
 
• หากท่านไม่สามารถเดินทางไปดำเนินการที่ประเทศไทยด้วยตนเอง สามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นดำเนินการแทนได้ในขั้นตอนนี้เอง ที่ท่านจะต้องยื่นเอกสารเพื่อทำเรื่องกับฝ่ายกงสุล ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทยฯ สาขาที่รับผิดชอบเขตอาณาของมลรัฐของท่านค่ะ
 
• ท่านสามารถสอบถามข้อมูลเรื่องการเปลี่ยนนามสกุล/การรับรองเอกสาร/การมอบอำนาจ ได้ที่ อีเมลล์[email protected] ประจำสำนักงานกรุงวอชิงตัน ดีซี
• เมื่อขั้นตอนการทำเอกสารเรียบร้อยจากฝ่ายกงสุล ประจำสำนักงานในต่างประเทศแล้ว (เอกสารสหรัฐฯ) ท่านจึงนำเอกสารที่ได้ไปติดต่อที่กรมการกงสุล ถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อนำเอกสารสหรัฐฯ นั้นไปแปลเป็นภาษาไทย และผ่านการรับรอง จากนั้นจึงสามารถนำเอกสารฉบับนี้ไปติดต่อขอปรับสถานะทางครอบครัวกับสำนักงานเขตที่ท่านมีทะเบียนบ้านอยู่ เป็นลำดับต่อไป
 
สำหรับการยื่นเรื่องขอเปลี่ยนนามสกุลกับทางฝ่ายกงสุล ประจำสำนักงานกรุงวอชิงตัน ดีซี จัดเป็นหัวข้องานบริการด้านนิติกรณ์ ซึ่งมีการบริการทำเอกสารตั้งแต่การรับรองลายมือชื่อในเอกสารไทย (มอบอำนาจ) / การรับรองสำเนาเอกสารราชการไทย / การรับรองคำแปล
เอการราชการไทย / การขอหนังสือรับรองเพื่อใช้ผ่อนผันเกณฑ์ทหาร
ซึ่งจะใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 3-5 วันทำการ ค่าธรรมเนียม $15 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ท่านสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ : https://washingtondc.thaiembassy.org/th/page/last-name-change-marriage
และติดต่อสถานเอกอัครราชทูตฯ
(ฝ่ายกงสุล) ได้ที่งานนิติกรณ์ โทรศัพท์ (202)640-1439 อีเมล์ [email protected]
(ณัฐพร ซิมเมอร์แมน – รายงาน)
5 กันยายน 2560