สาระกงสุลน่ารู้ ฉบับที่ 20/2561 (หน้าที่ของชายไทย รู้จักกับการเกณฑ์ทหาร)

สาระกงสุลน่ารู้ ฉบับที่ 20/2561 (หน้าที่ของชายไทย รู้จักกับการเกณฑ์ทหาร)

วันที่นำเข้าข้อมูล 31 ม.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 31 ม.ค. 2567

| 1,038 view
สาระกงสุลน่ารู้ ฉบับที่ 20
หน้าที่ของชายไทย รู้จักกับการเกณฑ์ทหาร
 
สวัสดีค่ะ สาระกงสุลน่ารู้ในฉบับที่ 20 นี้ กลับมาพร้อมลมหนาวในฤดู Winter ที่มาเยือนตั้งแต่เดือนธันวาคมจนเข้าต้นเดือนมกราคมเดือนแรกแห่งการเริ่มต้นปีใหม่ เป็นเดือนแห่งความรื่นเริง มีเทศกาลเฉลิมฉลองมากมาย ดูจะเป็นช่วงเวลาที่มีแต่ความสดใสซาบซ่าเข้ามาให้กระชุ่มกระชวยหัวใจใช่มั้ยคะ แต่ถ้าพูดถึงน้องๆ ชายไทย วัยใส วัย 18 ปีขึ้นไปแล้วล่ะก็ อาจจะเริ่มร้อนๆ หนาวๆ กับช่วงเวลานี้แล้วนะคะ เพราะอะไรนั้น ก็เพราะมันเป็นช่วงเวลาโค้งสุดท้ายของการส่งเอกสารยื่นผ่อนผันการขอเกณฑ์ทหาร ประจำปีถัดไปแล้วล่ะค่ะ ซึ่งการจัดเกณฑ์ทหารจะมีประจำในช่วงเดือนเมษายน ของทุกปี ก่อนอื่นผู้เขียนขออธิบายคร่าวๆ เกี่ยวกับเหตุผลว่าทำไม ทำไมชายไทยทุกคนจะต้องถูกเรียกเกณฑ์ทหาร ตามช่วงอายุที่เหมาะสมนะคะ
หากท่านเป็นชายไทย เป็นบุคคลสัญชาติไทยโดยกำเนิด และมีการแจ้งชื่อเข้าทะเบียนบ้าน เมื่อท่านอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ (หรือย่างเข้า 18 ปี) จำเป็นต้องไปแสดงตนเพื่อลงบัญชีทหารกองเกินตามภูมิลำเนาของตนเอง หรือที่เรียกว่า “การขึ้นทะเบียนทหาร” นั่นเองค่ะ การไปขึ้นทะเบียนนั้น เป็นไปตามภูมิลำเนาของพ่อ ถ้าพ่อถึงแก่กรรมแล้วให้ลงบัญชีทหารกองเกินตามภูมิลำเนาของแม่แทน แต่ถ้าถึงแก่กรรมแล้วทั้งคู่ ให้ลงบัญชีทหารกองเกิน ตามภูมิลำเนาของผู้ปกครองนะ ถามต่อว่าหากพ้นกำหนดถือว่าหลีกเลี่ยงขัดขืนหรือไม่ ขอตอบเลยว่ามีความผิดตามกฎหมายค่ะ แต่ถ้าถามว่ามีหนทาง หรือช่องทางใดที่จะขอผัดผ่อนเวลาออกไปก่อนได้หรือไม่ ก็มีช่องทางนะคะ เรียกว่าการขอผ่อนผันการเกณฑ์ทหารค่ะ ซึ่งเป็นงานหลักอีกหัวข้อหนึ่งของฝ่ายกงสุล ในเรื่องงานนิติกรณ์ ที่มีการขอยื่นเอกสารเข้ามาอย่างต่อเนื่องค่ะ อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว เรามาเริ่มทำความเข้าใจในเรื่องการเกณฑ์ทหารกันเลยดีกว่าค่ะ ตามมาเลยค่ะ 🙂
อะไรคือการลงบัญชีทหารกองเกินและการรับหมายเรียกครั้งแรก?
 
ชายที่มีสัญชาติไทย เมื่ออายุย่างเข้า 18 ปี บริบูรณ์ในพุทธศักราชใด ต้องไปแสดงตนเพื่อลงบัญชีทหารกองเกินภายในพุทธศักราชนั้น ที่อำเภอท้องที่ที่มีภูมิลำเนาอยู่ (อย่าลืมว่าภูมิลำเนาตามพ่อหรือแม่หรือผู้ปกครอง ตามแต่กรณีด้วยนะคะ) โดยจะได้รับใบสำคัญ สด. 9 เมื่อลงบัญชี ณ อำเภอใดแล้ว อำเภอนั้นจะเป็นภูมิลำเนาทหารของทหารกองเกินผู้นั้น ภูมิลำเนาทหารเป็นภูมิลำเนาเฉพาะไม่เกี่ยวข้องกับทะเบียนบ้านหรือสำมะโนครัว การจะย้ายภูมิลำเนาทหารต้องกระทำที่อำเภอแยก ต่างหากจากการย้ายภูมิลำเนาตามทะเบียนราษฎร ทหารกองเกินที่ย้ายทะเบียนราษฎร์จะย้ายภูมิลำเนาทหารด้วยหรือไม่ก็ได้ แต่มีหน้าที่แจ้งต่อนายอำเภอทุกครั้งที่ไปอยู่ต่างถิ่นเป็นเวลาเกินกว่า 30 วัน หากไม่แจ้งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ภูมิลำเนาทหารมีความสำคัญต่อทหารกองเกินอย่างมากเพราะเป็นสถานที่ที่ทหาร กองเกินต้องไปรับการตรวจเลือก ในแต่ละท้องที่ก็มีจำนวนทหารกองเกินและความต้องการของฝ่ายทหารที่กำหนดมา ต่างกัน การอยู่ในภูมิลำเนาทหารที่ต่างกันจึงมีผลต่อการตรวจเลือกเข้ารับกองประจำการ และเป็นช่องทางให้มีผู้หลีกเลี่ยงการเป็นทหารใช้หลบเลี่ยงไปได้ ทหารกองเกินเมื่อมีอายุย่างเข้า 21 ปี ในพุทธศักราชใด ต้องไปแสดงตนเพื่อรับหมายเรียกที่อำเภอท้องที่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาทหารของตน ภายในพุทธศักราชนั้นโดยจะได้รับหมายเรียก สด. 35 เพื่อให้มารับการตรวจเลือกในปีถัดไป ผู้ใดฝ่าฝืนไม่ขึ้นบัญชีทหารกองเกินหรือไม่มารับหมายเรียกต้องระวางโทษจำ คุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าก่อนที่เจ้าหน้าที่ยกเรื่องขึ้นพิจารณาความผิด ผู้นั้นได้มาขอลงบัญชีทหารกองเกิน หรือ มารับหมายเรียกแล้ว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้นการขอผ่อนผันการเกณฑ์ทหารจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับน้องๆ ท่านใดที่ยังติดภารกิจศึกษาต่อ หรือไม่พร้อมในการไปคัดเลือกการเกณฑ์ทหารค่ะ ดังนั้นผู้เขียนจึงขอนำสาระเกี่ยวกับการขอผ่อนผันการเกณฑ์ทหารของผู้ที่ศึกษาอยู่ในต่างประเทศ มาแบ่งปันกันค่ะ
 
เริ่มกันตั้งแต่การรับหมายเรียกเข้ารับราชการทหาร : น้องๆ ที่ได้ลงบัญชีทหารกองเกินไว้แล้ว เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ หรืออายุย่างเข้า 21 ปี ให้ไปรับหมายเรียกเข้ารับราชการทหารที่หน่วยสัสดีที่สำนักงานอำเภอที่มีภูมิลำเนาทหารภายในปี พ.ศ. นั้น เพื่อเข้ารับ การตรวจเลือกทหารในเดือนเมษายนของปี พ.ศ. ถัดไป หากน้องๆ ท่านใดไม่สามารถไปรับหมายเรียกได้ด้วยตนเอง ต้องให้บุคคลที่บรรลุนิติภาวะและเชื่อถือได้ไปแจ้งแทน (ควรเป็นบุคคลในครอบครัวหรือบิดา มารดา) หากพ้นกำหนดถือว่าหลีกเลี่ยง และมีความผิดตามกฎหมาย
 
การขอผ่อนผันการเข้ารับการเกณฑ์ทหาร ทำอย่างไร? : สำหรับน้องๆ ที่ศึกษาอยู่ในต่างประเทศและไม่สามารถไปเข้ารับการเกณฑ์ทหารได้นั้น ต้องรีบส่งเอกสารเพื่อขอผ่อนผันฯ เข้ามาที่ฝ่ายกงสุล ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ที่ดูแลมลรัฐที่คุณอาศัยอยู่ให้เร็วที่สุด ก่อนเดือนเมษายน ของทุกปีถัดไป ช้าที่สุดควรเป็นเดือนมีนาคม สาเหตุเพราะในเดือนเมษายนของทุกปี จะเป็นช่วงฤดูการตรวจเลือกเกณฑ์ทหาร ตามเขตและอำเภอต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งน้องๆ ชายไทยที่ได้รับหมายเรียก แต่ไม่สามารถไปตรวจเลือกทหารได้ เนื่องจากกำลังศึกษาในต่างประเทศ ให้ส่งเอกสารมายังฝ่ายกงสุล ให้สำเร็จเสียก่อน จนได้รับเอกสารประทับตราจากสถานทูตเรียบร้อยแล้ว จึงนำส่งให้ผู้ปกครอง หรือบิดา มารดา ที่ประเทศไทยเพื่อนำไปยื่นต่อสัสดี ที่ประจำอยู่ที่สำนักงานเขต หรืออำเภอที่มีภูมิลำเนาเป็นลำดับต่อไป ซึ่งโดยปกติแล้วน้องๆ จะได้รับอนุญาตให้ผ่อนผันได้ตามจำนวนปีที่กำลังศึกษาตามหลักสูตรจนกว่าจะจบการศึกษา และยกเว้นให้ไม่ต้องมาแสดงตนในวันเกณฑ์ทหารค่ะ
มาถึงหัวข้อสำคัญสำหรับเอกสารหลักฐานประกอบคำร้องนิติกรณ์เพื่อการขอผ่อนผันรอการตรวจเลือกเข้ารับราชการทหาร เตรียมตามนี้ได้เลยค่ะ :
 
(เขตอาณาของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน คือ Alabama, Delaware, Florida, Georgia, Louisiana, Maryland, Mississippi, North Carolina, South Carolina, Tennessee, Texas, Virginia, West Virginia, Puerto Rico, District of Columbia)
 
1.) หนังสือรับรองจากสถานศึกษาปัจจุบัน พร้อมคำแปลซึ่งพิมพ์หรือเขียนตัวบรรจงเป็นภาษาไทยทั้งฉบับโดยผู้แปลต้องลงลายมื่อชื่อรับรองคำแปลถูกต้อง และระบุรายละเอียดดังนี้
1.1 กำลังศึกษาในสาขา/หลักสูตรวิชาใด (Name of Program of Study) ณ สถานศึกษาใด (Name of Institute) รวมทั้งที่ตั้งของสถานศึกษา
1.2 เริ่มเข้าศึกษาเมื่อใด (Date of Admission) และคาดว่าจะสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรเมื่อใด (Date of Graduation)
1.3 ระดับการศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ (Degree) และภาควิชาเอก (Major)
 
2.) คำร้องนิติกรณ์ 1 ชุด ระบุหมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อได้หรืออีเมล์
3.) แบบฟอร์มการขอหนังสือรับรองจากสถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อขอผ่อนผันรอการตรวจเลือกเข้ารับราชการทหาร 1 ชุด
4.) สำเนาหนังสือเดินทาง 1 ชุด ซึ่งต้องระบุรับรองสำเนาถูกต้องจากเจ้าหน้าที่ Notary Public
5.) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน 1 ชุด (ผู้ขอผ่อนผันต้องรับรองสำเนาถูกต้อง พร้อมลงลายมือชื่อกำกับ)
6.) สำเนาทะเบียนบ้าน 1 ชุด (ผู้ขอผ่อนผันต้องรับรองสำเนาถูกต้อง พร้อมลงลายมือชื่อกำกับ)
7.) สำเนาใบสำคัญทหารกองเกิน (แบบ สด. 9) (ผู้ขอผ่อนผันต้องรับรองสำเนาถูกต้อง พร้อมลงลายมือชื่อกำกับ)
8.) สำเนาหมายเรียกเข้ารับราชการทหาร (แบบ สด. 35) หากมี (ผู้ขอผ่อนผันต้องรับรองสำเนาถูกต้อง พร้อมลงลายมือชื่อกำกับ)
9.) ค่าธรรมเนียมการรับรองคำแปลหนังสือรับรองจากสถานศึกษา 15 ดอลลาร์สหรัฐ (รับเฉพาะ Money Order หรือ Cashier’s Check, payable to “Royal Thai Embassy”)
 
ติดตามกันมาถึงบรรทัดนี้แล้วผู้เขียนก็หวังใจเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลการเตรียมเอกสารขอผ่อนผัน โค้งสุดท้ายจะช่วยให้หลายๆ ท่านที่คิดจะยื่นเรื่องกับทางฝ่ายกงสุล นั้นจะอำนวยความสะดวกมากยิ่งขึ้นนะคะ หากท่านมีคำถามค้างใจ อยากปรึกษาโดยตรงกับทางเจ้าหน้าที่นิติกรณ์ (ฝ่ายกงสุล) สาขาวอชิงตัน ดีซี ก็สามารถโทรศัพท์ หรืออีเมล์เข้ามาได้ตามรายละเอียดแนบนี้ค่ะ (202)640-1439 Email: [email protected] ขอเรียนเชิญติดตามสาระกงสุลน่ารู้ฉบับที่ 21 ได้ในเร็วๆนี้ ขอบพระคุณสำหรับการติดตามค่ะ
 
 
(ณัฐพร ซิมเมอร์แมน)
3 มกราคม 2561