สาระกงสุลน่ารู้ ฉบับที่ 18
การจดทะเบียนหย่าไทย ในสหรัฐอเมริกาฯ
(Thai-American Couple Divorce in USA)
สาระกงสุลฯ ฉบับที่ 17 ได้ฝากข้อมูลแนะนำผู้อ่านไปแล้วในเรื่องของการขอจดทะเบียนสมรสไทยในต่างประเทศนะคะ ซึ่งในฉบับนี้ผู้เขียนยังขอหยิบยกหัวข้อในงานทะเบียนราษฏร์มาฝากกันว่าด้วยเรื่องการขอจดทะเบียนหย่าไทย ในสหรัฐฯ กันบ้าง พูดกันตามความรู้สึกของพวกเราทีมเจ้าหน้าที่ ก็อยากให้ทุกคู่รัก ยังมีความรักให้แก่กัน สิ่งใดที่กระทบกระทั่งกันไปบ้าง ก็อยากจะอวยพรขอให้มีทางออกที่ดีที่สุด มากกว่าการตกลงปลงใจจดทะเบียนหย่ากัน แต่หากมีความจำเป็นจะต้องทำเอกสารนี้ ทางเจ้าหน้าที่ก็ขออนุญาตแนะนำขั้นตอนและรายละเอียดสักหน่อย เพื่อไม่ให้ยืดเยื้อเราไปดูกันเลยค่ะว่ามีเอกสาร และขั้นตอนอย่างไรกันบ้าง
การหย่าร้างนั้นเกิดขึ้นน่าจะทุกวันและทุกรัฐ บางคนอาจจะหย่าแบบรับไม่ได้ เพราะแต่งงานแล้วก็อยากใช้ชีวิตคู่ด้วยกันตลอด แถมบางคู่ยังต้องพึ่งพาอาศัยด้านการเงินของสามีหรือภรรยา ถ้าเกิดมีการหย่าร้าง จะทำยังไงใช้ชีวิตยังไง โดยเฉพาะกลุ่มที่ภาษาอังกฤษไม่ได้เลย หรือได้บ้างแต่ไม่สามารถประกอบอาชีพทำมาหาเลี้ยงตัวเองได้คนเดียว คนที่อยู่อเมริกามานานอาจเห็นว่าการหย่าอาจเป็นเรื่องปกติไปเพราะฝรั่งเขา Move on กันได้รวดเร็ว (แม้บางคู่จะแค้นเคืองกันก็ตาม) ทีนี้กรณีคู่สมรสในต่างประเทศนั้นโดยส่วนใหญ่ก็จะเป็นการที่คนที่ถือสัญชาติไทยแต่งกับชาวต่างชาติ รวมถึงคนไทยแต่งงานกับคนไทยด้วยกันเอง จึงทำให้มีความแตกต่างในเรื่องเอกสารอยู่ด้วย คือ หากท่านแต่งงานกับคนไทยจากประเทศไทยโดยจดทะเบียนสมรสไทย ท่านสามารถขอจดทะเบียนหย่าไทยได้ที่สถานเอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศได้ หรือถึงแม้ท่านจะจดทะเบียนสมรสไทยกับชาวต่างชาติก็สามารถขอจดหย่าได้ในต่างประเทศเช่นกัน แต่กรอกเอกสารเพิ่มอีกสักหน่อย ซึ่งการหย่าก็มีหลักๆ 2 เหตุผลคือ การหย่าแบบสมัครใจ และการหย่าแบบโกรธแค้น ความราบรื่นในการยื่นเอกสารก็อาจจะแตกต่างกันไป และอีกเรื่องที่สำคัญอีกอย่างที่พึงระลึกถึงคือผลของการหย่าในการทำใบเขียวหรือการขอซิติเซ่นด้วยสำหรับท่านที่อยู่ในอเมริกา
การหย่าตามกฏหมายไทยนั้นสามารถดำเนินการได้ 2 วิธี
1. สามี ภริยาทั้งสองฝ่ายตกลงยินยอมหย่าขาดจากกัน โดยไปจดทะเบียนหย่าที่สำนักงานเขตหรืออำเภอแห่งใดก็ได้ หรือฝ่ายกงสุลประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย (ในต่างประเทศ) และคุณสามารถทำบันทึกข้อตกลงในเรื่องบุตร สินสมรสและทรัพย์สินอื่นๆ ท้ายทะเบียนหย่าได้
2. สามี ภริยาฟ้องหย่า เมื่อไม่สามารถตกลงยินยอมหย่าขาดจากกันได้ ซึ่งการจะฟ้องหย่าได้นั้น จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด เช่น สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูผู้อื่นฉันสามีหรือภริยา หรือจะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตามที่ทำให้คู่สมรสไม่อาจร่วมกินอยู่ได้โดยปกติสุข ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถขอฟ้องหย่าได้
การขอจดทะเบียนหย่าไทย
(กรณีนัดหย่าที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ในต่างประเทศ)
สำหรับผู้ร้องที่กำลังจะติดต่อยื่นเอกสารกับฝ่ายกงสุล ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน (วอชิงตัน ดีซี) สามารถดูรายละเอียดงานทะเบียนราษฎร์ได้ผ่านทางเว็บไซต์ของสถานเอกอัครราชทูตฯ
• คู่หย่ากรุณาติดต่อนัดหมายและส่งเอกสารล่วงหน้าเพื่อตรวจสอบความถูกต้องและเตรียมจัดพิมพ์เอกสารได้ที่อีเมล์
[email protected]
• คู่หย่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย
• คู่หย่าต้องมายื่นคำร้องขอจดทะเบียนหย่าด้วยตนเอง แต่หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอยู่ประเทศไทยสามารถขอดำเนินการ “หย่าต่างสำนัก” ได้
ผู้ร้องยื่นคำร้องที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ฝ่ายกงสุล โดยเตรียมเอกสารดังนี้
* แบบฟอร์ม *คำร้องขอนัดหมายจดทะเบียนหย่า
* แบบฟอร์ม* คำร้องขอจดทะเบียนหย่า
* แบบฟอร์ม* คำร้องนิติกรณ์สำหรับการจดทะเบียนหย่า ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงคนละ 1 ชุด
* แบบฟอร์ม* หนังสือสัญญาหย่า
* หนังสือเดินทางไทยที่มีอายุใช้งาน พร้อมสำเนา
* บัตรประชาชนไทย หรือทะเบียนบ้านของคู่หย่าคนไทย
* ใบสำคัญการจดทะเบียนสมรสฉบับจริง 2 ฉบับ (นำมาคืนให้เจ้าหน้าที่)
คำแนะนำการกรอกหนังสือสัญญาหย่า :
• ข้อตกลงในการหย่าเรื่องบุตร โปรดระบุจำนวนบุตร ชื่อนามสกุล วันเดือนปีเกิด และอายุของบุตรแต่ละคน (ปี) หากมีบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (อายุน้อยกว่า 20ปี) ต้องระบุผู้ที่จะมีอำนาจปกครองบุตรภายหลังการหย่าด้วยหากไม่มีบุตรร่วมกัน ให้ระบุว่า “ไม่มี”
• ถ้าไม่ต้องการระบุข้อตกลงในการหย่าเรื่องทรัพย์สินให้เขียนว่า “ไม่ระบุ”
• ถ้าไม่ต้องการระบุข้อตกลงในการหย่าเรื่องอื่นๆ ให้เขียนว่า “ไม่มี”
จากนั้นเจ้าหน้าที่ประจำฝ่ายกงสุลจะติดต่อนัดหมายให้ท่านมาเซ็นเอกสารต่อหน้าเจ้าหน้าที่ ณ สถานเอกอัครราชทูตฯ เป็นอันเสร็จสมบูรณ์
การหย่าตามกฏหมายสหรัฐอเมริกา ก็มี 2 ลักษณะเช่นกัน
ก่อนที่จะหย่านั้นท่านควรที่จะปรึกษาทนายความในรัฐที่คุณและสามีอาศัยอยู่ก่อน เพราะกฎหมายสหรัฐอเมริกานั้นแต่ละรัฐไม่เหมือนกัน จึงดีที่สุดถ้าเราจะปรึกษาผู้รู้ก่อนลงมือยื่นเอกสาร เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ตัวท่านเองค่ะ แต่โดยหลักทั่วไปแล้ว มี 2 ลักษณะคือ Uncontested divorce กับ Contested divorce
1. Uncontested divorce คือ หย่าโดยความยินยอมพร้อมใจของทั้งสองฝ่าย การหย่าแบบนี้ใช้ในกรณีไม่มีเรื่องบุตรหรือทรัพย์สินเข้ามาเกี่ยวข้อง คือตกลงกันได้เอง บางเว็บไซต์ของสหรัฐอเมริกานั้นมีสำนักงานทนายความที่รับทำเรื่องหย่าในลักษณะนี้ คือฝ่ายที่ประสงค์จะหย่าเริ่มเรื่องเตรียมเอกสารแล้วส่งให้อีกฝ่ายหนึ่งเซ็นพร้อมกับเซ็นหนังสือสละสิทธิการมาปรากฎตัวต่อศาลเมื่อทนายความรวบรวมเอกสารครบถ้วนแล้วจึงยื่นต่อศาล ศาลก็จะตัดสินให้มีการหย่าและมีผลบังคับใช้ทันที
2. Contested divorce เป็นการหย่าที่ต้องใช้ทนายดำเนินการ มีเรื่องบุตรเรื่องทรัพย์สินเข้ามาเป็นประเด็นเกี่ยวข้อง กระบวนการยุ่งยากกว่า กรณีนี้ควรปรึกษาทนายความในรัฐที่ท่านจะดำเนินการยื่นฟ้อง
กล่าวสั้นๆคือ ก่อนการฟ้องหย่าหรือไปจดทะเบียนหย่าด้วยความยินยอมนั้น ท่านควรพิจารณาเรื่องบุตร สินสมรส ค่าอุปการะเลี้ยงดูและทรัพย์สินที่ประสงค์จะแบ่งนั้นตั้งอยู่ที่ใด เพื่อให้ศาลสามารถมีคำพิพากษาและดำเนินการบังคับคดีให้กับท่านได้ และที่สำคัญคือค่าใช้จ่ายในการจ้างทนายความและเวลาที่คุณจะต้องเสียไปกับการฟ้องร้องคดี หากการหย่านั้นไม่สามารถตกลงกันได้ด้วยดี ทางที่ดีคุยกัน หาทางปรับความเข้าใจกัน น่าจะดีที่สุดค่ะ และควรคำนึกถึงผลของการหย่ากับการทำใบเขียว หรือการขอซิติเซ่นด้วยสำหรับท่านที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาด้วย ทีนี้ถ้าคุณหย่าก่อนยื่นเรื่องใบเขียวคุณก็ไม่ได้ทำใบเขียว ถ้าคุณหย่าระหว่างทำใบเขียวก็ลำบากหน่อย เพราะคุณต้องแข่งกับเวลา เพราะถ้าคุณไม่ไปปรากฎตัววันสัมภาษณ์ทางอิมมิเกรชั่นจะส่งจดหมายมาถึง หลังจากนั้นจะ “แคนเซิล” เคสของคุณ (Cancel case) และภายหลังจะส่งจดหมายตามเชิญให้ออกนอกประเทศ ในระหว่างที่เคสเก่ายังคงค้างอยู่และคุณได้แต่งงานใหม่ คุณสามารถยื่นเคสใหม่ได้คะ
โดยที่ท่านสามารถดาวน์โหลด และมีวิธีการกรอกเอกสารแนบอยู่ในหน้าเว็บนั้นๆ ด้วย
ก่อนจากกันในฉบับนี้ผู้เขียนอยากฝากข้อคิดตามประสาหญิงไทยในต่างแดน ในฐานะเพื่อนคนไทยด้วยกันนะคะ การเตรียมตัวสำหรับการใช้ชีวิต (หากเกิดมีการหย่าร้าง) มาฝากกัน สิ่งจำเป็นที่หลายคน (อาจ) มองข้ามไป แต่สำคัญกับตัวเรามากในอนาคต ควรพึงระลึกไว้ในใจว่า :
• ให้เรียนภาษาอังกฤษเพื่อให้สามารถติดต่อสื่อสารได้และเพื่อประกอบอาชีพได้
• ควรมีใบขับขี่ จะได้ดูแลตัวเองได้
• สอบซิติเซ่น
• ทำงานประจำ เหมาะสำหรับคนไม่มีลูก หรือลูกเข้าเรียน หรือหาอาชีพออนไลน์ที่สามารถสร้างรายได้
• เรียนรู้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต สิทธิในฐานะภรรยา สิทธิถ้าเราหย่า ศึกษากฏหมายตามรัฐที่เราอาศัยอยู่ให้ดี
• มีเพื่อน หรือคนไว้ใจได้ ที่สามารถติดต่อและขอให้ความช่วยเหลือได้
• พยายามช่วยเหลือตนเองให้มากที่สุด มีเงินเก็บออม เปิดบัญชีส่วนตัวแยกไว้บ้าง
หวังใจว่าทุกท่านจะยังคงความรัก ความเข้าใจในครอบครัวไว้ให้ได้นานที่สุด ปัญหาทุกปัญหามีทางแก้ไขขึ้นอยู่กับว่าสมาชิกในครอบครัวจะเปิดใจรับฟังกันและกัน Happy family is a key to a bright future!
ขอขอบคุณสำหรับการติดตามสาระกงสุลในทุกฉบับค่ะ
ณัฐพร ซิมเมอร์แมน – รายงาน
(กรกฎาคม 2560)