สาระกงสุลน่ารู้ ฉบับที่ 16/2560 รู้ไว้ใช่ว่า...ขับรถในอเมริกา แตกต่างกับบ้านเราอย่างไร ไปดูกัน?

สาระกงสุลน่ารู้ ฉบับที่ 16/2560 รู้ไว้ใช่ว่า...ขับรถในอเมริกา แตกต่างกับบ้านเราอย่างไร ไปดูกัน?

วันที่นำเข้าข้อมูล 31 ม.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 31 ม.ค. 2567

| 1,472 view
สาระกงสุลน่ารู้ ฉบับที่ 16
รู้ไว้ใช่ว่า...ขับรถในอเมริกา แตกต่างกับบ้านเราอย่างไร ไปดูกัน?
“U.S. & Thailand Traffic Violation Tips”
 
ในฉบับที่แล้วว่าด้วยเรื่องการขอมีใบอนุญาตขับขี่ในสหรัฐฯ ไปแล้ว มาฉบับนี้ขออนุญาตนำเสนอเป็นภาคต่อเรื่องราวการแชร์ประสบการณ์ และการเสนอแนะข้อสังเกตเล็กๆ น้อยๆ ว่าถ้าเราจะเริ่มใช้รถ ใช้ถนนกันจริงๆ จังๆ ในต่างประเทศแล้วเนี่ย มันแตกต่าง มันสอดคล้อง หรือมีอะไรบ้างที่เราต้องจดจำ เพื่อการขับรถกันอย่างถูกต้องและปลอดภัยค่ะ วันนี้ผู้เขียนขอนำเสนอทั้งประสบการณ์ของตัวเอง และของคนรู้จักมาให้ลองอ่านกันดูนะคะ เริ่มกันเลยดีกว่าค่ะ... อย่างที่หลายๆ ท่านที่อยู่อาศัยในสหรัฐฯ ก็ใช้รถกันเป็นปกติอยู่แล้วนะคะ บทความนี้ขอออกตัวก่อนว่า ขอให้เป็นข้อแนะนำของหลายๆ ท่านที่กำลังเริ่มต้นใช้รถ ใช้ถนนในต่างประเทศก็แล้วกันค่ะ
 
กรุงวอชิงตัน ดีซี หรือ Washington, District of Columbia (D.C.) เป็นเมืองหลวงของประเทศ มีมลรัฐ Maryland และ Virginia ล้อมเกือบรอบ ต่างเมืองต่างรัฐก็ออกใบขับขี่ต่างกันไป ซึ่งถ้าพูดสั้นๆ คือใบขับขี่ที่ออกให้ของแต่ละเมืองนั้นอายุการใช้งานก็ต่างกันไปด้วย และกฎกติกาของการขอต่ออายุใบขับขี่นั้นก็ต่างกันไปด้วยค่ะ ต้องคอยดูคอยตรวจสอบเอกสารของตนเองให้ดีนะคะ การขับรถในต่างประเทศ ยิ่งเป็นประเทศสหรัฐอเมริกาด้วยแล้ว การขับรถโดยถือใบอนุญาตขับขี่หมดอายุด้วยแล้ว ขอบอกว่าไม่สนุกแน่ๆค่ะ ยกตัวอย่างเช่น หากคุณถือใบขับขี่ของกรุงวอชิงตันดีซี มีอายุใช้งาน 8 ปีเต็ม หากคุณเป็นพลเมืองสหรัฐแล้วขอต่ออายุได้เมื่อหมดอายุทันที หากคุณเป็นผู้ที่ถือวีซ่าเพื่อพำนักในสหรัฐฯ หรือถือเอกสารอื่นๆ ถูกต้องตามกฎหมายของสหรัฐฯ ใบขับขี่ของคุณก็จะมีอายุใช้งานจนถึงวันหมดอายุ ตามเอกสารการพักอาศัยที่ถืออยู่ค่ะ และคุณขอต่ออายุใบขับขี่ได้ที่ Washington, D.C. Department of Motor Vehicles (D.C.) (DMV.) และทาง DMV. จะส่งจดหมายเตือนให้ท่านทราบประมาณ 60 วันก่อนที่ใบขับขี่ของท่านจะหมดอายุลง เพื่อให้ท่านมาต่ออายุใบขับขี่ตรงเวลาค่ะ โดยปกติจะมีค่าธรรมเนียม 47 ดอลล่าร์สหรัฐฯ และจะไม่มีค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมนอกจากนี้ หากท่านปล่อยให้ใบขับขี่หมดอายุมากกว่า 1 ปี ท่านจะต้องเข้าทดสอบ แบบข้อเขียนใหม่อีกครั้ง และหากท่านปล่อยให้ขาดอายุเกินกว่า 5 ปี ท่านจะต้องเข้าทดสอบทั้งข้อเขียน และสอบปฏิบัติขับรถด้วยค่ะ แล้วการขอต่ออายุก็ง่ายมากๆ ขอต่ออายุได้ด้วยตนเองและทางออนไลน์ค่ะ ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://dmv.dc.gov/
 
สำหรับท่านที่อาศัยอยู่ในมลรัฐ Virginia การขอมีใบขับขี่ปกติเริ่มขอได้ตั้งแต่อายุ 16 ปี 3 เดือน และสามารถขอเอกสาร Learner’s permit ได้ตั้งแต่อายุ 15 ปี 6 เดือนค่ะ อีกอย่างหนึ่งอายุการใช้งานของใบขับขี่มลรัฐเวอร์จิเนียนั้นมีอายุ 8 ปี และจะหมดอายุลงตรงกับวันเดือนปีเกิดของท่านค่ะ จำง่ายดีนะคะ อีกเรื่องหนึ่งที่เน้นว่าเรานั้นถือใบขับขี่คลาส หรือประเภทใดนั้นสังเกตง่ายๆ ค่ะ หากใบขับขี่ของคุณออกให้ ภายในเดือนกรกฎาคม หรือหลังกรกฎาคม ปี 2016 ใบขับขี่ของคุณจะแสดงอักษรย่อประเภท “D” ภายใต้หัวข้อ “Class” บนหน้าบัตร และหลังบัตรจะแสดงอักษรย่อ “D” เสมือน “Operate DL” เพื่อแสดงให้ทราบว่าคุณสามารถขับรถได้โดยมีผู้โดยสารร่วมด้วย และ หากใบขับขี่ของท่าน ออกให้ก่อนเดือนกรกฎาคม ปี 2016 บนใบขับขี่ท่านจะแสดงคำว่า “NONE” ภายใต้หัวข้อ “Class” แต่ความหมายนั้นไม่ได้แตกต่างกันนะคะ หากท่านอยากเปลี่ยนอักษรย่อแสดงประเภทบนหน้าบัตรก็สามารถทำได้โดยขอแสดงความจำนงค์ขอเปลี่ยนบัตรและจ่ายค่าธรรมเนียมค่ะ ส่วนค่าธรรมเนียมปกติจะแตกต่างกันตามประเภทของใบขับขี่ค่ะ สามารถดูรายละเอียดตามลิงค์ https://www.dmv.virginia.gov/#/ และหลังจากท่านสอบผ่านทั้งข้อเขียน และสอบผ่านปฏิบัติขับรถแล้ว บัตรใหม่จะถูกส่งไปให้ท่านทางไปรษณีย์ตามที่อยู่ที่ท่านให้ไว้ค่ะ
 
สำหรับท่านผู้ที่อยู่ในเขตมลรัฐแมรี่แลนด์ ขอมีใบอนุญาตขับขี่กับทาง The Maryland Department of Transportation’s Motor Vehicle Administration (MVA) http://www.mva.maryland.gov/ ท่านที่มีอายุตั้งแต่ 21 ปีขึ้นไป ใบขับขี่ของท่านจะมีอายุใช้งานเต็ม 8 ปี จนถึงวันหมดอายุ และการเฉลี่ยอายุใช้งานของใบขับขี่ของท่านจะถูกประมวลผลคำนวนจากระบบของ MVA. ค่ะ แล้วเมื่อถืงเวลาที่ใบขับขี่ของท่านจะหมดอายุลง ทาง MVA. จะส่งจดหมายเพื่อแจ้งเตือนท่านก่อนประมาณ 60 วัน หากท่านปล่อยให้ขาดอายุเกิน 1 ปี ท่านจะต้องเข้าทดสอบข้อเขียนและสอบปฏิบัติใหม่อีกครั้งค่ะ ใบขับขี่ใหม่ของท่านจะถูกจัดส่งให้ท่านทางไปรษณีย์ภายใน 7-10 วันทำการด้วยนะคะ เมื่อได้รับใบขับขี่ใหม่แล้ว ท่านจำเป็นต้องทำลายบัตรใบเก่าทันทีค่ะ เพราะเป็นกฎหมายบังคับนะคะ เก็บไว้ชื่นชมพร้อมกัน 2 ใบ ไม่ได้ นะคะ นอกจากนั้นแล้วท่านยังสามารถขอแจ้งสิทธิ์การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้เมื่อต่ออายุใบขับขี่ค่ะ หากเป็นพลเมืองสหรัฐ อีกหนึ่งข้อที่หลายๆ ท่านก็ไม่ควรละเลยนะคะ หากท่านเป็นพลเมืองสหรัฐแล้ว เรื่องของการจ่ายภาษีให้ตรงเวลา จ่ายให้ครบทุกประเภทตามสิทธิ์ที่เราควรทำเป็นเรื่องจำเป็นมาก สำหรับคนที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ เพราะต้องเข้าใจว่ารายละเอียดต่างๆ ของแต่ละบุคคลนั้นกระทบกับเอกสารจำเป็นทางราชการที่ท่านควรมี เช่น หากท่านไม่จ่ายภาษี หลบเลี่ยง หรือใดๆ ก็ตาม ทางการสามารถตรวจสอบได้แน่นอน และนั่นก็เป็นสิทธิ์ที่ทาง MVA. จะไม่อนุญาตให้ท่านต่ออายุใบขับขี่ได้เช่นกันค่ะ การไม่ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ แลกกับชีวิตที่มีข้อจำกัด มันคงไม่ใช่เรื่องสนุกแน่ๆ ว่ามั้ยคะ ...... ดังนั้น หัวข้อต่างๆ ที่นำมาแบ่งปันนี้ คงเป็นตัวแจ้งเตือนหลายๆ ท่านได้ค่ะ .... และอีกหนึ่งสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนนั่นก็คือ “การเมาแล้วขับ” อันนี้น่ากลัวมากนะคะ อย่ามองข้ามเด็ดขาด กฎหมายลงโทษเมาแล้วขับ ตาม พรบ.การจราจรทางบก (ประเทศไทย) ฉบับใหม่ พ.ศ. 2560 คือ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ 10,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างเช่นข่าวล่าสุดที่มีผลกระทบกับความรู้สึกของคนไทยไม่ใช่น้อย คือเหตุการณ์คนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่น ก่อคดีเมาแล้วขับรถชนนักเรียนชาวญี่ปุ่นเสียชีวิตด้วยกันถึง 2 ราย นอกจากนี้ คนขับยังไม่มีใบอนุญาตขับขี่สากลอีกด้วย ทำให้ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากออกมาวิพากษ์วิจารณ์การกระทำดังกล่าวกันอย่างแพร่ หลาย ถึงขั้นมีการเสนอแนะให้รัฐบาลญี่ปุ่นควรยกเลิกวีซ่าให้กับทางคนไทยอีกด้วย เหตุที่ทำให้เกิดการแสดงความเห็นคิดที่เป็นไปอย่างรุนแรงนี้ เพราะกฎหมายในประเทศญี่ปุ่นมีความเข้มงวดเรื่องการเมาแล้วขับเป็นอย่างมาก ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งในกรณีเช่นนี้ การเมาแล้วขับจนเกิดอุบัติเหตุในประเทศญี่ปุ่น มีโทษถึงขั้นประหารชีวิต อ่านแล้วก็ต้องเตือนตัวเองให้ดี ขับให้ดี มีสติกันด้วยนะคะ
หรือในเขตกรุงวอชิงตัน ดีซีเอง กฎหมายลงโทษกรณีเมาแล้วขับ หรือ "Driving Under the Influence (DUI.)” นั้นก็เข้มงวดมากเช่นกันคือ แบ่งเป็นความผิด 3 ครั้ง จำคุกตั้งแต่ 90 วัน ถึง 1 ปี หรือปรับ $300-$10,000 หรือระงับสิทธิ์ขับขี่ของท่านได้ตั้งแต่ 6 เดือน – 2 ปี เชียวนะคะ แถมยังอาจส่งผลกระทบกับท่านที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ด้วยวีซ่าประเภทต่างๆ ที่อาจจำเป็นต้องมีการต่ออายุของวีซ่าด้วย หากทางการตรวจสอบพบ อาจมีคำถามมากมายกับท่าน ปวดหัวค่ะ หลีกเลี่ยงดีกว่า
ขอแถมข่าวฝากจากประเทศไทยสำหรับหลายๆท่านที่ยังคงถือใบขับขี่ไทยที่มีอายุใช้งานอยู่นะคะ กรมขนส่ง ขยายอายุใบอนุญาตขับรถส่วนบุคคลชนิดชั่วคราว 1 ปี เป็น 2 ปี พร้อมปรับอัตราค่าธรรมเนียม มีผล 23 พฤษภาคม 2559 ตามที่กรมการขนส่งทางบก ได้ออกประกาศให้ใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคล / รถสามล้อ / รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลชนิดชั่วคราวที่ออกให้ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2558 สามารถมีอายุการใช้งานได้ 2 ปี และอำนวยความสะดวกเพิ่ม ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถที่ไม่สามารถเปลี่ยนได้ทันภายในระยะเวลาที่กำหนด สามารถนำมาขอเปลี่ยนเป็นใบอนุญาตขับรถส่วนบุคคล ชนิดอายุ 5 ปี ได้ตั้งแต่ได้รับใบอนุญาตขับรถชนิดชั่วคราวครบ 1 ปี จนถึง 2 ปีเต็มในอัตราค่าธรรมเนียมเดิมคือ 100 บาทค่ะ
ทราบรายละเอียดกันให้ครบถ้วนในเรื่องเอกสารใบขับขี่แล้ว ห้ามลืมกฎกติการมารยาทการใช้รถ ใช้ถนน ป้ายจราจรต่างๆ ที่อาจแตกต่างกันบ้างกับประเทศไทย ทำให้ดิฉันเองนึกถึงเวลาขับรถที่ประเทศไทย เลี้ยวซ้ายก็ผ่านตลอดๆ (แอบหมุนพวงมาลัยให้ไวเลยนะคะ) พอมาอยู่ที่สหรัฐฯ เอ๊ะ...เลี้ยวขวานี่นา ต้องค่อยๆ ปรับตัวไปเรื่อย ขืนเลี้ยวออกไปมีหวังสนุกแน่ๆ
ป้าย “No Turn On Red” ไม่มีแน่นอนในประเทศไทย แต่สหรัฐฯ เต็มไปหมดค่ะ จะไม่มีรถขับมาอย่างไร เราก็ต้องหยุดค่ะ
ป้ายนี้ความหมายตามชื่อเลย ห้ามเลี้ยวเมื่อหยุดที่สัญญานไฟแดงเด็ดขาดนะคะ ซึ่งจะต่างกับป้าย “Stop here on red” ความหมายของป้ายนี้บังคับให้ผู้ขับรถต้องหยุดที่จุดหน้าสัญญานไฟแดง แต่อนุญาตให้เลี้ยวได้หากแน่ใจว่าปลอดภัยค่ะ ป้าย “Yield” ความหมายคือ “ยอมให้ไปก่อน” ขืนแย่งไปก่อน มีประสานกันอย่างนี้เราเป็นคนผิดนะค่ะ อย่างนี้เป็นต้น เมืองไทยจะหยุดจอดแวะรับส่งที่ไหน เมื่อไหร่ ไม่มีปัญหาค่ะ จอดไปเลยถ้าตรงนั้นไม่มีตำรวจ แต่ที่นี่ไม่ได้นะคะ จุดจอดรับส่ง
จะมีป้ายแสดง “Kiss & Ride” ส่วนใหญ่คนที่อยู่สหรัฐฯ จะเห็นป้ายนี้คุ้นตามากๆ ในบริเวณจุดรับส่งผู้ใช้รถประจำทาง หรือ สถานีรถไฟขนส่งในเมือง “Bus Station or Metro Station” โดยป้ายนี้มีความหมายแสลง หมายถึง แวะจอดรับ- ส่ง ผู้โดยสารเท่านั้นค่ะ แต่ความหมายอ่านแล้วเหมือนว่าให้หยุดแล้วจูบลากัน...แต่ถ้าจะจุ๊บลากันพอหอมปากหอมคอ ก็ไม่สงวนสิทธิ์กันนะคะ หากไม่ใช่จุดที่มีป้ายสัญลักษณ์รับส่ง แล้วคุณจอดรถกีดขวางการจราจร ก็เสี่ยงกับการได้ใบสั่ง (Ticket) ได้ง่ายๆ มีหลายอย่างค่ะ อยู่สหรัฐฯ เราจะคุ้นชินกับการ “รอคิว - ผลัดเปลี่ยน” หรือ “Take Turn” ขับรถไปไหนเจอป้ายหยุด (Stop Sign) หรือเจอทางแยก ไม่ว่า 3 แยก หรือ 4 แยก หยุดให้ดีนะคะ ไม่อย่างนั้นคุณก็อาจได้รางวัลเช่นกัน รางวัลที่ว่าเนี่ยก็ราคาไม่ธรรมดาเลยค่ะ เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบของผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นอย่างมาก หากฝ่าฝืนไม่หยุดตามป้ายหยุด คุณมีสิทธิ์ได้รางวัลตั้งแต่ขั้นต่ำ $90 - $150 แถมด้วยการตัดพ้อยท์ อีก 2 พ้อยท์ ถือว่าดิสเครดิตประวัติการขับรถของเราทีเดียวนะคะ ทางที่ดีอย่าให้โดนตัดพ้อยท์จะดีที่สุดค่ะ แถมให้อีกนิดตามประสบการณ์ของคนรู้จักนะคะ การจ่ายใบสั่งของเจ้าหน้าที่นั้นครอบคลุมถึงผู้ใช้รถยนต์ และรวมถึงรถจักรยานยนต์ และรถจักรยานด้วยค่ะ ..ใช่ค่ะรถจักรยาน อ่านกันไม่ผิดแน่นอน รถจักรยานเพียงชะลอผ่านป้ายหยุด แต่มีผู้ข้ามถนน หรือที่ต่างประเทศเรียกว่า “Pedestrian” ออกเสียง “เพ-เดส-เทรน” ค่ะ เพียงแค่นี้ท่านเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็ให้รางวัลมาเชยชม $90 กันไปเลยค่ะ
จำไว้เป็นบทเรียน จำไปอีกนานแสนนาน .. เล่ามาเสียนาน หวังใจว่าทางทีมกงสุลจะให้ประโยชน์เกร็ดเล็กๆ น้อยๆ กับท่านที่สนใจบ้างนะคะ หวังว่าหลายๆ ท่านที่เพิ่งเข้ามาติดตามสาระกงสุลน่ารู้จะติดตามผลงานของเราต่อไปค่ะ พบกันใหม่ฉบับหน้า สวัสดีค่ะ
 
 
(ณัฐพร ซิมเมอร์แมน) – รายงาน
เมษายน 2560