วันที่นำเข้าข้อมูล 29 ม.ค. 2567
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 ม.ค. 2567
“ไขข้อข้องใจในงานกงสุล .... เอ๊ะ ทำไม? อ๊ะ ยังไง? แล้วนั่นอะไร?”
“Consular Department FAQ”
กลับมาพบกันอีกครั้งกับสาระน่ารู้งานกงสุลในฉบับล่าสุดนะคะ เมื่อ 3 ฉบับที่ผ่านมา หนูมุ่งเน้นเขียนเนื้อหาหนักไปทิศทางเอกสารสหรัฐฯ ซะมาก คราวนี้มาว่ากันฝั่งไทยใกล้ตัวกับคนไทยในต่างประเทศกันบ้าง เพราะมีความสำคัญไม่แพ้กัน จากภาพประกอบเชื่อว่าหลายๆ ท่านคงคุ้นตากับหน้าต่าง 2 บานนี้ ใช่แล้วค่ะ...นี่คือบริเวณหน้าต่างสัมภาษณ์ ฝ่ายงานกงสุล ประจำสถานทูตไทยฯ กรุงวอชิงตัน ดีซี นี่เอง และเช่นกัน หลายๆ ท่านที่เคยแวะเวียนมาติดต่อราชการ ทำเอกสารกับฝ่ายกงสุล คงมีคำถามคาใจในหลายๆ เรื่อง กับงานบริการของเราที่ยังคงต้องการคำตอบที่ถูกต้อง และชัดเจน เพื่อการบริการที่รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพเพื่อการกลับมาติดต่อในอนาคต
คู่สายที่เข้ามานั้นมากขึ้นมากกว่าปกติอีกเท่าตัว จึงทำให้แต่ละสาย ต้องใช้เวลาอย่างต่ำประมาณ 5-10 นาที และถ้าท่านติดต่อมาในช่วง 5-10 นาทีที่ว่า ก็จะเจอปัญหานี้อย่างจัง หนูจึงขอความเมตตากรุณามุทิตาและอุเบกขาจากท่านโปรดสงสารทีมงานหนูด้วยนะคะ ถ้าสายว่าง เราพร้อมตอบคำถามเต็มที่เท่าที่จะตอบได้ค่ะ โทรไม่ติด รออีกนิด โทรใหม่เดี๋ยวก็ติด พอติดแล้ว ท่านต้องชมติดดาวให้พวกหนูมั่งนะคะ (แอบอ้อนเล็กๆ แล้วนะ)
> หนังสือเดินทางไทย ปัจจุบันเป็นแบบอิเล็กทรอนิคส์ e-passport เริ่มใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 โดยจะมีการบันทึกข้อมูลชีวภาพ (Biometric Data) ได้แก่ ภาพถ่ายและลายนิ้วมือ เก็บเป็น Microchip ฝังอยู่ในเล่มหนังสือเดินทางทำให้หนังสือเดินทางมีความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ในปัจจุบัน การต่ออายุหนังสือเดินทางก็คือการออกเล่มใหม่ให้ ทั้งนี้ผู้ร้องจึงจำเป็นต้องเผื่อเวลาในการจัดทำด้วยซึ่งปกติจะใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์ โดยสถานทูตจะแจ้งมาให้รับหรือจัดส่งทางไปรษณีย์ ตามความสะดวกของท่านค่ะ
>การออกเอกสารเดินทางกรณีจำเป็นเร่งด่วน ความหมายตามชื่อค่ะ คือสำหรับผู้ที่มีความจำเป็น และเร่งด่วนในกรณีที่จำเป็นจริง โดยสถานทูตจะพิจารณาตามความจำเป็นรายกรณีเท่านั้น และการยื่นขอสามารถดำเนินการได้ทางไปรษณีย์ โดยส่วนมากกรณีที่พบบ่อย คือ ท่านกำลังจะเดินทางและดำเนินการซื้อตั๋วเครื่องบินเรียบร้อยแล้วจึงพบว่าหนังสือเดินทางหมดอายุ หากเป็นในกรณีนี้ ขอความกรุณาท่าน ดำเนินการติดต่อขอต่ออายุหนังสือเดินทางตามปกติค่ะ
ความจำเป็นในการขอเอกสารสำคัญประจำตัว หรือ C.I. (Certificate of Identity)
ซึ่งเอกสารนี้ใช้ในการเดินทางกลับประเทศไทยได้อย่างเดียวและเที่ยวเดียวเท่านั้น! โดยออกให้สำหรับ 1. ผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีเป็นบุคคลต้องห้ามเดินทางออกนอกประเทศ 2. ผู้ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นบุคคลสัญชาติไทย แต่มีหลักฐานไทยไม่ครบถ้วน เอกสารนี้มีอายุใช้งานเพียง 30 วัน ใช้เวลาในการออกเอกสารประมาณ 1 สัปดาห์ (ไม่รวมเวลาที่ใช้ในการส่งไปรษณีย์) หากสาเหตุสำคัญของท่านเพียงเพื่อจะเดินทางกลับประเทศไทย และไม่มีความเร่งด่วนเพียงพอ ขอความกรุณาต่ออายุเล่มหนังสือเดินทางปกติ เพียงพอแล้วค่ะ
ส่วนเอกสารหนังสือเดินทางชั่วคราว (Temporary passport) จะออกให้สำหรับผู้ที่มีหลักฐาน ในการยื่นขอหนังสือเดินทางครบถ้วน แต่มีความจำเป็นไม่สามารถขอหรือรอรับหนังสือเดินทางเล่มใหม่ได้ อาทิ 1. ต้องเดินทางกลับไทยเร่งด่วน 2. เป็นผู้ที่ถูกคัดชื่อไปอยู่ทะเบียนบ้านกลาง ไม่สามารถขอหนังสือเดินทางได้ 3. ผู้ที่จำเป็นต้องหนังสือเดินทางในการติดต่อกับหน่วยงานสหรัฐฯ เอกสารหนังสือเดินทางชั่วคราวนี้มีอายุการใช้งาน 1 ปี สามารถยื่นขอทางไปรษณีย์ได้ โดยใช้เวลาออกประมาณ 1 สัปดาห์ (ไม่รวมเวลาส่งไปรษณีย์) ถ้าจะเดินทางออกนอกประเทศไทย จะต้องยื่นขอหนังสือเดินทางเล่มใหม่ และมีข้อควรระวัง! กรณีที่จะใช้หนังสือเดินทางชั่วคราว เดินทางเข้าประเทศอื่นก่อนกลับประเทศไทย (ออกจากสนามบิน) จะต้องตรวจสอบกับสถานเอกอัครราชทูตฯ ของประเทศนั้นๆ ก่อนว่า สามารถออกวีซ่าหรืออนุญาตให้ผู้ถือหนังสือเดินทางชั่วคราวเดินทางเข้าประเทศได้
สาเหตุเพราะ งานที่เกี่ยวกับทะเบียนราษฏร์ฯ เป็นงานละเอียดอ่อน รวมทั้งขอยื่นใบเกิดไทยนั้นเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องตรวจทานข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผิดนิดเดียวก็ไม่ได้ เช่น การยืนยันตัวสะกด ยืนยันสถานที่เกิด ชื่อบิดา มารดา และรายละเอียดปลีกย่อยนั้นมีความสำคัญต่อเนื่องในอนาคต กับการนำชื่อเด็กเข้าทะเบียนบ้านที่ประเทศไทย หากข้อมูลไม่ถูกต้องอาจทำให้เกิดความล่าช้าได้ อีกรายละเอียดในหัวข้องานทะเบียนราษฎร์ นั้นประกอบด้วย การออกเอกสารใบมรณบัตรไทย การจดทะเบียนสมรส จดทะเบียนหย่า ทุกหัวข้อที่กล่าวมารายละเอียดทุกขั้นตอน หากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น จะส่งผลกระทบในการดำเนินการต่อที่สถานที่ราชการในประเทศไทยได้ จึงจำเป็นต้องใช้ความละเอียดในการตรวจและพิจารณาเอกสาร โดยปกติทางสถานทูตฯ ได้ระบุเวลาดำเนินการไว้แล้ว ประมาณ 2-4 สัปดาห์ จึงแล้วเสร็จ
ในหลายๆ ครั้งที่ท่านเข้ามาติดต่อขอต่ออายุบัตรประชาชนไทย โดยบางท่านนำเอกสารประกอบมาครบถ้วน เช่น นำบัตรเดิมมาคืนเจ้าหน้าที่, นำสำเนาพาสปอร์ตไทย (ที่มีอายุใช้งาน) มาด้วย * หากใช้สำเนาพาสปอร์ตไทยที่หมดอายุมายื่นเรื่อง ทางเจ้าหน้าที่จะขอสำเนาทะเบียนบ้านประกอบด้วย หากไม่มีสำเนาทะเบียนบ้าน จะไม่สามารถยื่นเรื่องได้ และท่านจำเป็นจะต้องติดต่อขอต่ออายุหนังสือเดินทางไทยในวันเดียวกัน มิเช่นนั้น ทางเจ้าหน้าที่บัตรประชาชน จะไม่สามารถรับคำร้องขอต่ออายุบัตรประชาชนได้ โดยปกติ หากท่านนำเอกสารที่ครบถ้วนมายื่น ทางเจ้าหน้าที่จะสามารถออกบัตรประชาชนใบใหม่ให้ได้ทันที โดยใช้เวลาประมาณ 20 นาที ในการดำเนินการ
มาถึงบรรทัดนี้ท่านผู้อ่านอาจรู้สึกว่างานเอกสารราชการไทยมีความซับซ้อน ยุ่งยาก ขั้นตอนค่อนข้างเยอะอยู่มาก ซึ่งขอตอบว่าใช่ค่ะ เพราะนั่นเป็นการทำโดยมีข้อบังคับ ระเบียบ และกฎหมาย กำหนดไว้ จึงต้องทำให้ถูกต้อง แต่ขอให้ทุกท่านเชื่อใจทีมเจ้าหน้าที่กงสุลไทยค่ะว่าหากท่านมีเอกสารครบถ้วน ศึกษาขั้นตอนการเตรียมเอกสารตามข้อมูลที่ทางสถานทูตฯ แจ้งไว้ในเว็บไซด์ www.thaiembdc.org กรุณาเลือกภาษาตามหัวข้อเอกสารที่ต้องการยื่น หากเป็นงานตรวจลงตรา (Visa) หรือ Legalization เลือก English Language งานหัวข้อเอกสารไทย กรุณาเลือกภาษาไทย วิธีนี้จะช่วยประหยัดเวลาของท่านได้มากขึ้นค่ะ หวังใจว่าข้อมูลที่นำมาชี้แจงจะช่วยแนะนำทุกท่านได้ละเอียดมากขึ้นค่ะ
ขอขอบคุณสำหรับทุกการติดตามสาระน่ารู้งานกงสุลในทุกฉบับค่ะ แล้วพบกันที่ฝ่ายงานกงสุลเร็วๆนี้ ค่ะ
(ณัฐพร ซิมเมอร์แมน)
ตุลาคม 2559
ฝ่ายกงสุล สถานเอกอัครราชทูตฯ
2300 Kalorama Road, N.W. Washington, D.C. 20008
วันและเวลาทำการ
วันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 09.00-17.00น.
วันหยุดราชการ
วันหยุดราชการ