ดนตรีวิถีชีวิตไทยในดัลลัส
นับเป็นอีกโอกาสหนึ่งที่ ออท. พิศาล มาณวพัฒน์ ได้เดินทางเยือนเท็กซัส เที่ยวนี้ท่านทูตได้รับเชิญให้เป็นผู้กล่าวเปิดในงานสัมมนาส่งเสริมลู่ทางสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการซ่อมบำรุงอากาศยานที่ทางสำนักงานบีโอไอจัดขึ้น และได้เป็นประธานเปิดงานดนตรีในสวนครั้งที่ 8 ที่วัดพุทธดัลลัสจัดขึ้นในช่วงบ่ายวันอาทิตย์ที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา ท่ามกลางความสวยงามและร่มรื่นของมวลพฤกษชาติที่พระครูพิพิธธรรมกิจบรรจงปลูก และดูแลจนบานสะพรั่งอย่างงดงาม งานนี้ ได้เห็นคนไทยทั้งสามรุ่นร่วมแรงแข็งขันจัดแสดงดนตรีไทยและสากลสร้างความ บันเทิงให้ผู้ชมทั้งไทยและเทศหลายร้อยคน ภาพเด็กๆ 3 – 5 ขวบเล่นดนตรีไทยพร้อมรุ่นคุณย่าคุณยายจากวงเจ้าพระยาที่มีคุณป้าหมอพูนศรี ธรรมาสถิตร่วมวงด้วยและมีครูจิ๋ม ครูน้ำค้าง และครูแป๊กกี้คณะครูอาสาประจำวัดพุทธดัลลัสฝึกสอนสร้างความประทับใจไม่รู้ ลืม
ในงานคราคร่ำไปด้วยนักแสดงดนตรีตัวน้อยที่รอเล่นอังกะลุงเครื่องดนตรีไม้ไผ่ที่ต้องใช้พลังแขนเขย่าให้เกิดเสียง ซึ่งเด็กๆ วัย 3 – 5 ขวบหลายสิบคนเต็มเวทีการแสดงทำได้อย่างพร้อมเพรียงน่ารักเกิดพลังอย่างไม่น่าเชื่อ เป็นพลังแห่งความหวังที่ชุมชนไทยในนครดัลลัสแห่งนี้ฝากการสืบทอดวัฒนธรรมอันดีงามไว้กับอนุชนรุ่นหลัง ยิ่งเห็นกลุ่มเยาวชนและวัยรุ่นเป็นกลุ่มๆ ทะยอยเข้ามาร่วมชมงาน เช่นเดียวกับคนไทยที่ย้ายมาอยู่ดัลลัสรุ่นแรกๆ ทำให้เชื่อมั่นว่า การสืบสานวัฒนธรรมจะคงอยู่ตราบนานเท่านาน รวมทั้งจากการพูดคุยสั้นๆ กับครูจิ๋ม และครูน้ำค้างและครูแป๊กกี้ครูอาสาสมัคร 2 ท่านที่มาประจำวัดพุทธดัลลัสในปีนี้ซึ่งมีวิธีถ่ายทอดความรู้ให้กับเด็กๆ ตัวน้อยเหล่านั้น ยิ่งเกิดความมั่นใจถึงอนาคตดนตรีไทยซึ่งคณะกรรมการจัดงานอยากให้แสดงถึงวิธี ชีวิตของชุมชนไทยแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี
คุณหมอเคน เทพโภชน์ ประธานวัดพุทธดัลลัส และคุณตุ๊ก ภรรยา ตลอดจนคุณตุ้ม พันธุ์สัคค์ ศรีเพ็ญ ประธานสมาคมไทยในเท็กซัสตอนเหนือ และคุณติ๋ม ภรรยา และอีกหลายๆ ท่านในคณะจัดงานที่ได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจจัดงานนี้จนสำเร็จอย่างงดงาม หลายท่านนอกจากเตรียมหน้างานและหลังบ้านแล้ว ยังร่วมร้องเพลงและแสดงดนตรีไทยในงานอีกด้วย นับเป็นแบบอย่างให้เด็กๆ และเยาวชนเห็นถึงความงามทางจิตใจที่ส่งผ่านระหว่างรุ่นสู่รุ่นและได้หลอมรวม ยาวนานจนเกิดเป็นพลังความสามัคคีเช่นนี้ได้
ไม่แปลกใจที่ในช่วงเช้าวันนั้น ท่านทูตพิศาลในโอกาสปราศรัยกับกลุ่มคนไทยที่เข้าร่วมพิธีบูชาพระรัตนตรัยภายในพระอุโบสถหลังใหม่ที่จัดสร้างจากพลังความสามัคคีของชุมชนไทยได้อย่างวิจิตรงดงามมากว่า “สถานเอกอัครราชทูตฯ คงไม่สามารถเข้ามามีบทบาทและส่งเสริมความเป็นไทยได้ดีกว่าข้อริเริ่มดีๆ ที่ชุมชนไทยดำริขึ้นเอง โดยมีวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจและเป็นแหล่งเผยแผ่พระพุทธศาสนาซึ่งนับเป็นสิ่งประเสริฐสุดที่ชุมชนไทยพึงสืบทอดและแบ่งปันให้สังคมตะวันตกได้ วัดไทยในระยะหลังๆ ได้มีส่วนร่วมสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ที่สถานเอกอัครราชทูตฯ จัดขึ้น เช่น ล่าสุดที่วัดพุทธดัลลัสได้อนุเคราะห์สถานที่เป็นที่ดำเนินโครงการกงสุลสัญจรเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา นับเป็นแบบอย่างของชุมชนไทยในต่างประเทศที่มีความเข้มแข็งพึ่งตนเองได้”
หลายภาพที่เห็นอาจเป็นเรื่องคุ้นเคยชินตาของคนดัลลัส แต่สำหรับพวกเราจากกรุงวอชิงตันกลับเป็นภาพความประทับใจ เช่น การมาร่วมงานอย่างเป็นครอบครัวโดยทุกวัยร่วมสนุกสนานและได้รับความบันเทิง ภาพเด็กๆ ที่มานะตั้งใจซ้อมอย่างไม่ย่อถ้อ หรือแม้แต่ภาพการช่วยกันยกอาหารประเคนให้พระสงฆ์โดยการส่งต่อเป็นแถวเรียงยาวแสดงถึงความเป็นระบบและระเบียบและถือว่าได้บุญใหญ่ร่วมกัน และการใช้อาหาร ดนตรีและวัฒนธรรมเป็นสื่อยึดโยงความเป็นไทยภายในงาน เช่นการนำเครื่องดนตรีไทยและเครื่องเบญจรงค์ และการแกะสลักผักและผลไม้เป็นเครื่องประดับรอบๆ บริเวณงาน และบรรยากาศห้องเรียนภาษาและวัฒนธรรมไทยหลายระดับซึ่งมีชาวอเมริกันทั้งเด็ก และผู้ใหญ่สนใจมาเรียนกันจำนวนมาก
ในวันเดียวกัน คุณตุ้มพันธุ์สัคค์ ศรีเพ็ญ ประธานสมาคมคนไทยในเท็กซัสตอนเหนือ ได้อาสาขับรถพาคณะไปนมัสการพระสงฆ์ที่จำพรรษา ณ วัดพุทธรัตนารามในเขตเมืองเคลเลอร์ซึ่งห่างจากวัดพุทธดัลลัสไปทางตะวันตก เฉียงเหนือประมาณ 65 กิโลเมตร ใช้เวลาขับรถ 35 นาที ได้พบกับคุณยุทธชัยและคุณหมอรัชนีภาส สุวรรณรังสี ประธานและเหรัญญิกวัดพุทธรัตนาราม ซึ่งวัดมีความกว้างขวางโอ่อ่า โดยชุมชนชาวลาวในพื้นที่บริจาคที่ดิน 20 เอเคอร์หรือประมาณ 50 ไร่ และชุมชนชาวพุทธทั้งคนไทยและคนลาวและศาสนิกชนอื่นๆ ได้ร่วมกันสร้างพระพุทธรัตนมหาเจดีย์ หรือพุทธคยาจำลองขึ้นเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญทางพระพุทธศาสนาในดินแดน ตะวันตกแห่งนี้และความสมัครสมานฉันมิตรของคนไทยและคนลาวที่ต่างเลื่อมใสใน พระพุทธศาสนาเป็นทุนเดิม และพระสงฆ์ได้ปฏิบัติกิจบิณฑบาตยามเช้าในหมู่บ้านโดยรอบที่มีชุมชนชาวลาว อาศัย เด็กๆ ชาวลาวหลายคนที่พบเห็นในวันนั้นต่างมีสร้อยคอคล้องพระกันแทบทุกคน
มาต่างมลรัฐทุกครั้ง ออท. พิศาล จะใช้เวลาเท่าที่โอกาสอำนวยพบปะกลุ่มผู้นำชุมชนไทยในพื้นที่ด้วย ในการเยือนดัลลัสครั้งนี้ซึ่งเป็นครั้งแรกของ ออท. พิศาล ได้พบปะคนไทย 60 คน เมื่อคืนวันที่ 2 เมษายนที่ร้านอาหารไทย Bangkok Dee คนไทยในเขตดัลลัสมีมากกว่า 5 พันคนและมาจากหลากหลายอาชีพ ทั้งแพทย์และพยาบาล อาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิจัย นักออกแบบ และวิศวกร เจ้าของธุรกิจอาหาร เครื่องประดับ และธุรกิจส่วนตัว นำโดยคุณตุ้ม พันธุ์สัคค์ ศรีเพ็ญ ประธานสมาคมคนไทยในเท็กซัสตอนเหนือ นพ. ไพโรจน์ ประทุมรัตน์ และนายเจษฎา วิรัตนจันทร์ อดีตประธานสมาคมฯ นายชาตรี เกียรติอัชชาสัย รองประธานสมาคมฯ ฝ่ายนักธุรกิจ ผู้ก่อตั้ง Courtesy Building Services คุณหมอเคน เทพโภชน์ ประธานวัดพุทธดัลลัส นายวุฒิเลอวิศิษฎ์ จากบริษัท Chapal ผู้ผลิตอัญมณีและเครื่องประดับสำคัญ นางพวงทอง มิเคลสัน ผู้บริหาร บ. Mikkelsen Investments พ.ต.ต. Jimmy Vaughan และร้อยเอกสุรศักดิ์ ยามแฟ้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจอาวุโส และนายประพันธ์ โพธิ์คำ เลขาสมาคมฯ รวมทั้งผู้แทนจากวัดพุทธรัตนาราม และวัดบุศย์ธรรมวนาราม และกงสุลกิตติมศักดิ์ของไทย Forrest W. Smith งานนี้ ออท. พิศาลได้เห็นพลังความสามัคคีที่จะเป็นแรงส่งเสริมความสามารถผู้นำรุ่นใหม่ ของชุมชนไทย และโอกาสสร้างเครือข่ายความช่วยเหลือทางธุรกิจระหว่างคนไทยจากมลรัฐต่างๆ กันต่อไป
ดัลลัสเมืองศูนย์กลางธุรกิจและพาณิชย์สำคัญในเขตตอนใต้
ดัลลัสปัจจุบันมีประชากร 1.28 ล้านคน (7.1 ล้านหากรวมเขตดัลลัสฟอร์ตวอร์ธและอาร์ลิงตันหรือ หรือ DFW เข้าด้วยกัน) เป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดา 12 เขตใน DFW ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของสหรัฐฯ (GDP ประมาณ 500 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) มีการจ้างงาน 3 ล้านคน เป็นที่รู้จักในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม การขนส่ง การธนาคาร คอมพิวเตอร์ การสื่อสารโทรคมนาคม มีบริษัทชั้นนำที่มีสำนักงานใหญ่อยู่บริเวณแดลลัส ได้แก่ เอกซอนโมบิล(บริษัทน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลก) เอทีแอนด์ที เซเว่น-อีเลฟเว่น (ซึ่งมีจุดเริ่มต้นแห่งแรกจากเมืองนี้) บล็อกบัสเตอร์ คิมเบอร์ลี-คลาร์ก แมรีเคย์ สายการบินเซาท์เวสต์ คอมพ์ยูเอสเอ เท็กซัสอินสทรูเมนต์ และเชลส์ เฉพาะเท็กซัสอินสทรูเมนต์ยักษ์ใหญ่ด้านการออกแบบและจัดจำหน่าย semiconductors จ้างงานมากกว่าหนึ่งหมื่นคนในดัลลัส และเป็นที่ตั้งของบริษัทด้านสื่อสารและโทรคมนาคมชั้นนำของโลกหลายแห่งอีกด้วย
มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเท็กซัส ดัลลัส (UTD) มหาวิทยาลัยเซาเธิร์นเมธอดิสต์ (SMU) เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีชื่อเสียงด้านกฎหมายและบริหารธุรกิจ ส่วนทีมกีฬาที่เป็นที่รู้จักได้แก่ ดัลลัสคาวบอยส์ (อเมริกันฟุตบอล) ดัลลัสแมเวอริกส์ (บาสเกตบอล) เอฟซีดัลลัส (ฟุตบอล) เท็กซัสเรนเจอรส์ (เบสบอล) และดัลลัสสตารส์ (ฮ๊อกกี) เป็นต้น
เท็กซัสโดยรวมถือเป็นรัฐ ศูนย์กลางพาณิชย์ของสหรัฐฯ มีบริษัทที่อยู่ใน Fortune 500 มากกว่า 100 บริษัท เป็นคลังและแหล่งกระจายสินค้าที่สำคัญทางตอนใต้ของสหรัฐฯ เป็นเป้าหมายหลักด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยวและการบริการของไทย โดยคนไทย นักธุรกิจไทยและกงสุลกิตติมศักดิ์ของไทยในพื้นที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับทางการท้องถิ่น