สาระกงสุลน่ารู้ ฉบับที่ 4/2559 (การใช้หนังสือเดินทาง สำหรับผู้มีหนังสือเดินทาง 2 เล่ม 2 สัญชาติ)

สาระกงสุลน่ารู้ ฉบับที่ 4/2559 (การใช้หนังสือเดินทาง สำหรับผู้มีหนังสือเดินทาง 2 เล่ม 2 สัญชาติ)

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 ม.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 ม.ค. 2567

| 836 view

Photo credit: www.skyscrapercity.com

แนวปฏิบัติของการใช้หนังสือเดินทาง สำหรับผู้มีหนังสือเดินทาง 2 เล่ม 2 สัญชาติ ในการเดินทางเข้าออกประเทศไทย

ในฉบับนี้ฝ่ายกงสุลขอหยิบยกอีกหนึ่งคำถามยอดนิยมสำหรับชาวไทยที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ถือครอง 2 สัญชาติ โดยมีสิทธิในการใช้หนังสือเดินทาง 2 เล่มควบคู่กัน มานำเสนอค่ะ ซึ่งในหลายๆ ครั้ง คำถามนี้ยังคงเป็นข้อสงสัยว่า แนวทางใดจะเป็นแนวทางที่ดีและถูกต้องที่สุดสำหรับการเดินทางในกรณีเหล่านี้ ยกตัวอย่างเช่น
“จะเดินทางยังไงดี? จะใช้เล่มไหนเข้าประเทศไทย? ควรจะต้องใช้เล่มไหนออก? จะอยู่ได้นานแค่ไหน? และจำเป็นต้องออกนอกประเทศ หรือสลับเล่มหรือไม่/อย่างไร?”
ซึ่งในฉบับนี้เรามีข้อมูลที่ท่านควรทราบเพื่อปฏิบัติมานำเสนอกันค่ะ

      แนวปฏิบัติของการใช้หนังสือเดินทางสำหรับผู้มีหนังสือเดินทาง 2 เล่ม 2 สัญชาติ ในการเดินทางเข้าออกประเทศไทย:
1. “หลักการใช้หนังสือเดินทางหรือพาสปอร์ตที่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติการตรวจคนเข้าเมือง คือ ผู้เดินทางใช้พาสปอร์ตเล่มใดเข้าประเทศ ต้องใช้เล่มนั้นเดินทางออก”กล่าวคือ กรณีการเดินทางเข้าประเทศไทยโดยใช้พาสปอร์ตไทย ให้ใช้พาสปอร์ตไทยสำหรับการเดินทางออก หรือกรณีเดินทางเข้าประเทศไทยโดยใช้พาสปอร์ตต่างประเทศ ก็ให้ใช้พาสปอร์ตต่างประเทศสำหรับการเดินทางออกเช่นกัน

2. “การใช้พาสปอร์ตต่างเล่มในการแจ้งเข้า-ออกประเทศไทย จะทำให้การบันทึกข้อมูลการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทย ในฐานข้อมูลของหน่วยตรวจคนเข้าเมืองไม่สมบูรณ์ อาจสร้างความสับสน และอาจมีประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายคนเข้าเมืองได้” กล่าวง่ายๆ คือ พาสปอร์ตต่างประเทศ ที่ถูกใช้แจ้งเข้าเมือง แต่ไม่ได้ใช้แจ้งออกจากเมือง ก็จะไม่ได้รับการบันทึกการเดินทางออก (ซึ่งอาจทำให้ฐานข้อมูลปรากฏเป็นว่าผู้เดินทางผู้นั้น อยู่เกินกำหนดที่ได้รับอนุญาต) และพาสปอร์ตไทยที่จะถูกใช้แจ้งออกเมือง (แทนพาสปอร์ตต่างประเทศ) ก็จะไม่พบการบันทึกข้อมูลการเดินทางเข้าประเทศไทยก่อนหน้านั้น

3. “ผู้เดินทางที่ใช้พาสปอร์ตต่างประเทศแจ้งเข้าเมืองจะได้รับอนุญาตให้พำนักในประเทศไทย ภายในระยะเวลาที่กำหนดตามประเภทของการตรวจลงตรา (วีซ่า) ที่ผู้เดินทางได้รับ” (อาทิ วีซ่าท่องเที่ยว 60 วัน หรือคนอยู่ชั่วคราว 90 วัน) หรือบางประเทศได้รับการยกเว้นการตรวจลงตรา (Visa Exemption) และผู้เดินทางจะต้องเดินทางออกก่อนการอนุญาตนั้นสิ้นสุดลง ดังนั้นหากผู้เดินทางประสงค์จะพำนักอยู่ต่อในประเทศไทยระยะยาว ผู้เดินทางจะต้องปฏิบัติตามระเบียบ/ข้อบังคับในการขออนุญาตขยายเวลาพำนักกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ต.ม.) ในฐานะคนต่างชาติ แล้วพบกันใหม่กับข้อมูลดีๆ ในฉบับหน้าค่ะ

 

ข้อมูลอ้างอิง >> กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ/กองหนังสือเดินทาง
______________________________________________________________________

ณัฐพร – รายงาน
7 มีนาคม 2559