วันที่นำเข้าข้อมูล 1 ส.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 20 ก.ค. 2567

| 10,003 view

Thai_ID_Card_Mockup

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการทำบัตรประจำตัวประชาชน

1. สามารถยื่นขอทำบัตรประจำตัวประชาชนผ่านทางไปรษณีย์ได้หรือไม่

ไม่ได้ เนื่องจากต้องมีการบันทึกข้อมูลชีวภาพ อาทิ ลายนิ้วมือ รูปถ่าย เพื่อบันทึกลงในบัตรประจำตัวประชาชน ดังนั้น จึงต้องเดินทางมาด้วยตนเอง ทั้งนี้ท่านจะได้รับบัตรประจำตัวประชาชนใบใหม่ทันทีในวันที่มารับบริการ 

 

2. สามารถขอรับการบริการโดยไม่ต้องทำนัดหมายล่วงหน้าได้หรือไม่ 

เจ้าหน้าที่แนะนำให้ผู้ที่ประสงค์ขอทำบัตรประจำตัวประชาชน ทำนัดหมายล่วงหน้าในระบบนัดหมายออนไลน์ คลิกที่นี่เพื่อนัดหมายออนไลน์ขอทำบัตรประจำตัวประชาชน เนื่องจากเมื่อทำนัดหมายสำเร็จ ท่านจะได้รับอีเมลยืนยันนัดหมายสำเร็จจากระบบตอบรับอัตโนมัติทันที โดยในอีเมลจะระบุวันและเวลานัดหมายที่ท่านได้เลือกไว้ พร้อมทั้ง Checklist ของเอกสารที่จะต้องนำมายื่นในวันขอรับบริการ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ท่านในการจัดเตรียมเอกสารมาครบถ้วนและหลีกเลี่ยงการรอเข้ารับบริการเป็นระยะเวลานาน หรือแม้กระทั่งการทำบัตรประจำตัวประชาชนไม่ได้ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่จะให้บริการแก่ผู้ที่มีนัดหมายล่วงหน้าก่อนจึงจะสามารถให้บริการแก่ผู้ที่ไม่มีนัดหมายล่วงหน้าได้

 

3. หากสมาชิกในครอบครัวต้องการทำบัตรประจำตัวประชาชนพร้อมกัน ต้องทำการจองนัดแยกกันหรือไม่

ต้องทำการจองนัดแยกกัน เนื่องจากหนึ่งคิวนัดหมายจะสามารถนัดได้ให้เพียงหนึ่งท่านเท่านั้น 

 

4. หากไม่สะดวกเดินทางมาขอทำบัตรประจำตัวประชาชนที่ฝ่ายกงสุล สถานเอกอัครราชทูตฯ จะมีช่องทางอื่นหรือไม่ 

ผู้ขอทำบัตรประจำตัวประชาชนจะต้องมาแสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่เท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกต่อคนไทยในสหรัฐฯ สถานเอกอัครราชทูตฯ และสถานกงสุลใหญ่ได้จัดบริการกงสุลสัญจร โดยเจ้าหน้าที่จะเดินทางไปให้บริการตามรัฐต่าง ๆ ตามเขตอาณาที่ได้รับผิดชอบ เป็นประจำทุกปี หากท่านอาศัยอยู่ในเขตรับผิดชอบของสถานเอกอัครราชทูตฯ ท่านสามารถดูข้อมูลการให้บริการกงสุลสัญจรของสถานเอกอัครราชทูตฯ (ฝ่ายกงสุล) ได้ที่นี้ หรือท่านสามารถตรวจดูตารางการให้บริการกงสุลสัญจรบนหน้าเว็บไซต์ของสถานกงสุลใหญ่ในเขตที่ตนอาศัยอยู่ได้ที่เว็บไซต์ https://washingtondc.thaiembassy.org/th/page/mobileconsularservices  ทั้งนี้ ท่านสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัตรประจำตัวประชาชนได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ (202) 640-5328 หรืออีเมล [email protected]

 

5. จะหาข้อมูลเกี่ยวกับเอกสารที่ต้องใช้ในการยื่นขอทำบัตรประจำตัวประชาชนได้ที่ช่องทางใด 

สามารถอ่านข้อมูลเกี่ยวกับการยื่นขอทำบัตรประจำตัวประชาชนได้ที่เว็บไซต์ https://washingtondc.thaiembassy.org/th/page/idcardservice

 

6. กรณีใดบ้างที่สามารถขอทำบัตรประจำตัวประชาชนได้ในสหรัฐฯ และมีค่าธรรมเนียมหรือไม่

กรณีขอมีบัตรใหม่ ได้แก่

  • บัตรเดิมหมดอายุ (ไม่มีค่าธรรมเนียม)
  • บัตรเดิมสูญหาย (ค่าธรรมเนียมชำระด้วยเงินสด 4 ดอลลาร์สหรัฐ)

กรณีขอเปลี่ยนบัตร ได้แก่

  • บัตรเดิมถูกทำลายหรือชำรุดในสาระสำคัญ (ค่าธรรมเนียมชำระด้วยเงินสด 4 ดอลลาร์สหรัฐ)
  • ผู้ถือบัตรเปลี่ยนชื่อตัวและ/หรือนามสกุลไทย (ค่าธรรมเนียมชำระด้วยเงินสด 4 ดอลลาร์สหรัฐ)
  • ผู้ถือบัตรเปลี่ยนตัวสะกดชื่อตัวและ/หรือนามสกุลภาษาอังกฤษ (ไม่มีค่าธรรมเนียม)
  • ผู้ถือบัตรเปลี่ยนคำนำหน้านาม เช่น จาก เด็กชาย/เด็กหญิง เป็น นาย/นางสาว (ไม่มีค่าธรรมเนียม)
  • ผู้ถือบัตรย้ายถิ่นฐานภูมิลำเนา (ค่าธรรมเนียมชำระด้วยเงินสด 4 ดอลลาร์สหรัฐ)

 

7. สามารถยื่นคำร้องขอมีบัตรประจำตัวประชาชนใบใหม่ก่อนบัตรเดิมหมดอายุได้หรือไม่

ท่านไม่สามารถทำบัตรประจำตัวประชาชนใบใหม่ได้ หากบัตรใบเดิมยังมีอายุเหลือเกินกว่า 60 วัน (ยกเว้นกรณีบัตรสูญหาย ชำรุด หรือเปลี่ยนชื่อ/ที่อยู่/คำนำหน้านาม)

   

8. บัตรประจำตัวประชาชนมีอายุกี่ปี

มีอายุ 8 ปี นับแต่วันออกบัตร

 

9หากบัตรประจำตัวประชาชนสูญหายต้องแจ้งความหรือไม่ 

ไม่จำเป็นต้องแจ้งความ ท่านสามารถทำนัดหมายขอทำบัตรประจำตัวประชาชนเนื่องจากกรณีบัตรสูญหาย พร้อมเตรียมค่าธรรมเนียมเงินสด 4 ดอลลาร์สหรัฐ มาชำระในวันที่ท่านมีนัดหมาย อย่างไรก็ดี สถานเอกอัครราชทูตฯ แนะนำให้ท่านแจ้งความกับสถานีตำรวจท้องถิ่นไว้ เพื่อป้องกันการถูกนำบัตรประจำตัวประชาชนไปใช้หรือการถูกสวมสิทธิในภายหลัง (หากมีผู้ไม่ประสงค์ดีเก็บบัตรประจำตัวประชาชนของท่านได้) 

 

10หากต้องการเปลี่ยนนามสกุลในบัตรประจำตัวประชาชนเนื่องจากการสมรส/หย่า จะต้องดำเนินการอย่างไร

สถานเอกอัครราชทูตฯ ไม่สามารถเปลี่ยนนามสกุลไทยให้ท่านได้ ท่านต้องขอแก้ไขนามสกุลในทะเบียนราษฎร ณ ประเทศไทยเท่านั้น เนื่องจากข้อมูลที่ใช้ในการทำบัตรประจำตัวประชาชนจะอิงข้อมูลจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรจากประเทศไทย ทั้งนี้ ท่านสามารถยื่นเรื่องขอแก้ไขนามสกุลด้วยตนเอง หรือ มอบอำนาจให้บุคคลอื่นดำเนินการแทนที่สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอ จากนั้นจึงนำหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อ/สกุล มาประกอบการยื่นขอทำบัตรประจำตัวประชาชนใบใหม่

 

11. กรณีใดบ้างที่ไม่สามารถทำบัตรประจำตัวประชาชนในต่างประเทศได้ 

ผู้ที่ยังไม่เคยทำบัตรประชาชน และ/หรือ ผู้ที่มีสัญชาติไทยที่เดินทางไปต่างประเทศเป็นเวลานานและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกลางหรือถูกจำหน่ายออกจากทะเบียนบ้าน (ท.ร. 97) จะไม่สามารถขอทำบัตรประจำตัวประชาชนในต่างประเทศได้ (ศึกษาเพิ่มเติมต่อที่ข้อ 13-16) 

 

12. กรณียังไม่เคยมีบัตรประจำตัวประชาชน จะทำอย่างไร 

ผู้ที่มีอายุ 7 ปีขึ้นไป สามารถทำมีบัตรประจำตัวประชาชนได้ หากยังไม่เคยทำบัตรประจำตัวประชาชนใบแรกที่ประเทศไทยมาก่อน จะส่งผลให้ไม่สามารถยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนในสหรัฐฯ ได้ เนื่องจากบัตรประจำตัวประชาชนใบแรกจะสามารถทำได้ที่ประเทศไทยเท่านั้น สาเหตุที่ยังไม่อนุญาตให้ดำเนินการออกบัตรประจำตัวประชาชนใบแรกในสหรัฐฯ ได้ เนื่องจากต้องมีการตรวจสอบหลักฐานและ/หรือพยานบุคคล รวมทั้งเกี่ยวข้องกับระเบียบข้อกฎหมายที่ต้องดำเนินการ เพื่อเป็นการยืนยันว่าการออกบัตรประจำตัวประชาชนนั้นถูกต้องและตรงกับบุคคลที่ยื่นขอมีบัตรฯ

 

13. ทะเบียนบ้านกลางคืออะไร และหากมีชื่อติดอยู่ในทะเบียนบ้านกลางต้องทำอย่างไร

ทะเบียนบ้านกลาง หมายถึง ทะเบียนบ้านที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนดให้จัดทำขึ้นสำหรับลงรายการบุคคลที่ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านปกติ (ท.ร.14) ทั้งนี้ ผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกลางจะไม่สามารถขอทำบัตรประจำตัวประชาชนในสหรัฐฯ ได้ ขอให้ติดต่อสำนักทะเบียนที่เกี่ยวข้องเพื่อแจ้งย้ายชื่อออกจากทะเบียนบ้านกลางเพื่อไปเข้าทะเบียนบ้านชั่วคราวสำหรับคนที่เดินทางไปต่างประเทศ โดยสามารถดำเนินการด้วยตนเองหรือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นดำเนินการแทน

 

14. แล้วควรทำอย่างไรเพื่อไม่ให้บุคคลสัญชาติไทยที่เดินทางไปต่างประเทศเป็นเวลานานมีชื่อติดอยู่ในทะเบียนบ้านกลาง

บุคคลสัญชาติไทยที่เดินทางไปต่างประเทศเป็นเวลานานควรแจ้งย้ายชื่อตนออกจากทะเบียนบ้านปกติ (ท.ร. 14) เข้าไปอยู่ในทะเบียนบ้านชั่วคราวสำหรับคนที่เดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านชั่วคราวดังกล่าว จะยังมีสิทธิขอทำบัตรประจำตัวประชาชนในต่างประเทศได้ 

 

15. หากมีชื่อติดอยู่ใน ท.ร. 97 ต้องทำอย่างไร

ท.ร.97 หมายถึง บุคคลที่ถูกจำหน่ายรายการออกจากทะเบียนบ้าน โดยมีผู้มายื่นคำร้องต่อนายทะเบียนท้องถิ่นที่มีชื่ออยู่ตามทะเบียนบ้าน อาทิ บุคคลที่มีชื่อซ้ำในทะเบียนบ้านเกินกว่า หนึ่งแห่ง กรณีบุคคลหายสาบสูญ และ/หรือ บุคคลที่มีชื่ออยู่ทะเบียนบ้านกลางของสำนักทะเบียนและไม่มีการเคลื่อนไหว หากท่านเป็นผู้ที่ถูกจำหน่ายรายการออกจากทะเบียนบ้าน (ท.ร.97) ท่านต้องกลับไปดำเนินการแจ้งย้ายชื่อออกด้วยตนเองเท่านั้น (ไม่สามารถมอบอำนาจให้บุคคลอื่นดำเนินการแทนได้)

 

16. จะทราบได้อย่างไรว่าตนเองมีชื่อติดอยู่ในทะเบียนบ้านกลาง หรือ ท.ร. 97

สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัตรประจำตัวประชาชนประจำสถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อตรวจสอบว่าท่านมีชื่อติดอยู่ในทะเบียนบ้านกลาง หรือ ท.ร. 97 หรือไม่ โดยสามารถติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ (202) 640-5328 หรืออีเมล [email protected]

 

17หากประสงค์จะนัดทำบัตรประจำตัวประชาชนและหนังสือเดินทางในวันเดียวกัน จะต้องทำนัดแยกกันหรือไม่ 

คิวนัดหมายบัตรประจำตัวประชาชนสงวนไว้ให้ผู้ที่จะทำบัตรประจำตัวประชาชนอย่างเดียวเท่านั้น หากจะทำหนังสือเดินทางแต่บัตรประจำตัวประชาชนหมดอายุ หรือสูญหาย ให้ท่านทำนัดหมายสำหรับหนังสือเดินทางเพียงอย่างเดียว เจ้าหน้าที่จะอนุโลมให้ทำบัตรประจำตัวประชาชนในวันเดียวกัน 

 

18. สามารถยื่นขอทำบัตรประจำตัวประชาชนในสหรัฐฯ ที่ใดได้บ้าง

สามารถทำการนัดหมายเพื่อขอทำบัตรประจำตัวประชาชน ณ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน หรือ สถานกงสุลใหญ่ที่ท่านสะดวก ดังนี้

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน (ฝ่ายกงสุล)

2300 Kalorama Rd., N.W. Washington, D.C. 20008

เว็บไซต์ https://washingtondc.thaiembassy.org

 

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก 

351 E 52nd St., New York, NY 10022

เว็บไซต์ https://newyork.thaiembassy.org

 

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครชิคาโก

700 N Rush St., Chicago, IL 60611

เว็บไซต์ https://cgchicago.thaiembassy.org

 

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส

611 N Larchmont Blvd. #2, Los Angeles, CA 90004

เว็บไซต์ https://thaiconsulatela.thaiembassy.org

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

ฝ่ายกงสุล สถานเอกอัครราชทูตฯ (เจ้าหน้าที่บัตรประชาชน) 

2300 Kalorama Rd., N.W. 

Washington, D.C. 20008

หมายเลขโทรศัพท์ (202) 640-5328

อีเมล [email protected]