วันที่นำเข้าข้อมูล 24 มี.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 12 ม.ค. 2567

| 8,957 view

สถาบันพระมหากษัตริย์

พระอัจฉริยภาพของพระมหากษัตรย์ไทยกับความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ อเมริกา

พระมหากษัตริย์ไทยได้ทรงมีสายพระเนตรกว้างไกลในการวางรากฐานความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้วไม่ว่าจะเป็นโปรตุเกส สหราชอาณาจักร และเนเธอร์แลนด์ ต่างก็เข้ามาค้าขายกับไทยมาช้านาน ส่วนสหรัฐอเมริกา แม้ว่าจะเป็นประเทศเกิดใหม่ไม่นานแต่ก็ตระหนักถึงความสำคัญของสยาม เช่นกัน โดยในปี 2376 ในสมัยราชวงศ์จักรี ประธานาธิบดี Andrew Jackson ของสหรัฐฯ (ดำรงตำแหน่งปี 2372-2380) ได้ส่งนาย Edmund Roberts เป็นเอกอัครราชทูตเดินทางมายังกรุงเทพฯ เพื่อเจริญสัมพันธไมตรี พร้อมทั้งนำสิ่งของมาทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งรวมถึงดาบฝักทองคำที่ด้ามสลักเป็นรูปนกอินทรีและช้าง ในโอกาสนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานสิ่งของตอบแทนซึ่งเป็นของพื้นเมือง อาทิ งาช้าง ดีบุก เนื้อไม้ กำยาน และในปี 2376 นี้เองที่ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมลงนามในสนธิสัญญาไมตรีและการพาณิชย์ (Treaty of Amity and Commerce) ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา

จากนั้นมาความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกาได้ดำเนินไปอย่างมีพลวัตร และต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดต่อในระดับประมุข ในปี 2399 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชสาส์นถึงประธานาธิบดี Franklin Pierce (ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2396 -2400) และทรงมีพระราชสาส์นถึงประธานาธิบดี James Buchanan (ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2400 – 2404) อีก 2 ฉบับ ในปี 2402 และ 2404 ตามลำดับ โดยในพระราชสาส์นฉบับที่ 2 ได้ทรงอธิบายเป็นภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เองถึงพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานช้างให้สหรัฐอเมริกานำไปเลี้ยงและขยายพันธุ์ เพื่อใช้ประโยชน์ในการขนส่ง และยังได้พระราชทานดาบเหล็กกล้าแบบญี่ปุ่นฝักลงรักปิดทอง พร้อมพระบรมฉายาลักษณ์ให้กับประธานาธิบดี Buchanan อีกด้วย

ต่อมาในปี 2405 ประธานาธิบดี Abraham Lincoln (ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2404 – 2408) ได้มีสารตอบพระราชสาส์นที่มีถึงประธานาธิบดี Buchanan แสดงความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ โดยกราบบังคมทูลว่าจะเก็บรักษาพระแสงดาบไว้ให้เป็นสมบัติของชาติ ส่วนพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานช้างแก่สหรัฐอเมริกานั้น ประธานาธิบดี Lincoln กราบบังคมทูลตอบว่าสภาพอากาศในสหรัฐอเมริกา อาจไม่เหมาะสมกับช้าง รวมทั้งสหรัฐอเมริกามีเครื่องจักรไอน้ำที่มีประสิทธิภาพสำหรับการขนส่งภายในประเทศอยู่แล้ว

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้อดีตประธานาธิบดี Ulysses S. Grant เข้าเฝ้าฯ เมื่อครั้งที่ประธานาธิบดี Grant เดินทางเที่ยวรอบโลกและแวะผ่านไทยเมื่อปี 2422 นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเผยแพร่ชื่อเสียงประเทศไทยด้วยการ พระราชทานเครื่องดนตรีไทยหลายชนิดให้กับสถาบัน Smithsonian และพระราชทานสิ่งของเข้าร่วมในงานแสดงสินค้าระดับโลกในโอกาสต่างๆ เช่น เมื่อปี 2419 ในงานนิทรรศการในวาระครบรอบ 100 ปี ของสหรัฐอเมริกา ที่เมืองฟิลาเดลเฟียมลรัฐเพนซิลเวเนีย เมื่อปี 2436 ในงานมหกรรมโลกที่นครชิคาโก มลรัฐอิลลินอยส์ และเมื่อปี 2447 ในงานออกร้านในวาระเฉลิมฉลองการซื้อดินแดนหลุยเซียนา ที่เมืองเซนต์หลุยซ์ มลรัฐมิสซูรี ด้วย

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกามีความใกล้ชิดมากขึ้นไปอีกเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่เสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกา เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ในปี 2445 จากนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกาครั้งแรกเมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าประชาธิปกฯ ในปี 2467 เพื่อทรงรักษาพระเนตร และเมื่อขึ้นครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยพระนางเจ้ารำไพพรรณี เสด็จฯเยือนสหรัฐอเมริกา อีกครั้งในปี 2473 ซึ่งในการเสด็จฯ ครั้งนั้น ได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ประธานาธิบดี Herbert Hoover (ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2472 – 2476) เข้าเฝ้าฯ และพระราชทานสัมภาษณ์หนังสือพิมพ์สหรัฐฯ หลายฉบับ รวมทั้งเสด็จฯ เยือนเมืองสำคัญๆ ในมลรัฐต่าง ๆ ของสหรัฐอเมริกา หลายแห่งด้วย

ในรัชกาลปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐอเมริกา มีความพิเศษยิ่งกว่าในทุกรัชกาล เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชสมภพ ณ เมืองเคมบริดจ์ มลรัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ทรงศึกษาอยู่ที่ Harvard Medical School และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งขณะนั้นทรงศึกษาอยู่ที่วิทยาลัยการพยาบาล Simmons ที่เมืองบอสตัน มลรัฐแมสซาชูเชตส์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดช ทรงประทับอยู่ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งพระชนมายุ 2 พรรษา จึงเสด็จฯ กลับมาประทับที่ประเทศไทยระยะหนึ่ง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สมเด็จพระบรมราชชนกทรงสำเร็จการศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย Harvard ก่อนจะเสด็จฯ ทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงขึ้นครองราชย์แล้วพระองค์ได้เสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ถึง 2 ครั้งด้วยกัน

ครั้งแรก ระหว่างวันที่ 14 มิถุนายน – 14 กรฎาคม 2503 ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของประธานาธิบดีดไวต์ ดี ไอเซนฮาวร์ (Dwight D. Eisenhower ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2496 -2504) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยพระราชโอรสและพระราชธิดา เสด็จฯ เยือนเมืองต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา ได้แก่ เมืองโฮโนลูลู มลรัฐฮาวาย นครลอสแอนเจลิส กรุงวอชิงตัน นครนิวยอร์ก
เมืองเคมบริดจ์ นครบอสตัน มลรัฐแมสซาซูเซตส์ นครซานฟรานซิสโก ก่อนเสด็จฯ ประพาสยุโรป

ในระหว่างการเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการในครั้งนั้น เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2503 ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์เฝ้ารับเสด็จฯ และถวายเลี้ยงพระกระยาหารค่ำอย่างเป็นทางการ โดยได้กล่าวคำอวยพรถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสรุปความตอนหนึ่งว่า

” …รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งสำหรับอเมริกันชนที่ได้ถวายการต้อนรับพระองค์ ในฐานะมิตรประเทศที่แท้จริงของสหรัฐฯ…”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสตอบ ความตอนหนึ่งว่า

“…เป็นเพราะท่านประธานาธิบดีได้เชิญให้เรามาที่นี่ เราจึงสามารถทำให้ลูกๆ ของเราได้รู้ว่า สหรัฐฯ นั้นใหญ่หลวงเพียงใด และประชาชนมีไมตรีจิตทุกคน ซึ่งเป็นบทเรียนสำคัญที่ต้องสอนให้ลูกๆ ของเราทราบไว้คือว่า โลกใหญ่โตมโหฬารและทุกคนจะมีไมตรีจิต ถ้าเรามีไมตรีจิตต่อเขา…”

นับเป็นพระราชปฏิภาณและไหวพริบของพระองค์ที่จะรักษาความเป็นมิตรที่ใกล้ชิดระหว่างสองประเทศ

ในวันต่อมา (29 มิถุนายน 2503) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปยังรัฐสภาสหรัฐฯ และมีพระราชดำรัสต่อการประชุมร่วมของรัฐสภาสหรัฐฯ โดยพระราชทานเหตุผล 3 ประการในการเสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกาตามคำกราบบังคมทูลเชิญของประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ คือ

ประการแรก “…พระองค์ปรารถนาที่จะได้เห็นและเรียนรู้ประเทศที่มีความแตกต่างกันด้วย เชื้อชาติ ขนบธรรมเนียม และความเชื่อในศาสนา ดำรงอยู่ร่วมกันได้อย่างไร ในความมีอิสระและผาสุกทั่วหน้ากัน…”

ประการที่สอง “…แม้ว่าคนอเมริกันกับคนไทยอยู่กันคนละมุมโลก ก็มีอย่างหนึ่งเหมือนกัน คือความรักอิสระภาพโดยแท้ คำว่าไทย แปลว่าอิสระอยู่แล้ว และทรงรับสั่งถึงความสำคัญของการคบหาระหว่างประชาชนของสองประเทศ ที่จะเป็นประกันแห่งเสรีภาพ และความเจริญ…” และ

ประการที่ 3 “…ข้าพเจ้ามีความปรารถนาโดยธรรมดามนุษย์ที่จะได้เข้ามาเห็นสถานที่เกิด…” ซึ่งสามารถเรียกเสียงหัวเราะและรอยยิ้มจากสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่อที่ประชุมรัฐสภาสามารถเรียก เสียงปรบมืออย่างกึกก้องหลายครั้ง เช่น

“…เท่าที่ข้าพเจ้ามองดูประวัติศาสตร์ ข้าพเจ้าได้เห็นอาณาจักรอันเรืองอำนาจด้วยการเข้ายึดครองและเอาคนต่างชาติมาอยู่ในบังคับ ข้าพเจ้าได้เห็นอาณาจักรเหล่านั้นเสื่อมและสิ้นไป เพิ่งจะปรากฏในศตวรรษนี้เท่านั้นที่เราได้ประจักษ์ว่า มหาอำนาจที่ใหญ่ด้วยพลานุภาพ ละเว้นการทำสงครามเว้นเสียเพื่อป้องกันสิทธิความชอบธรรมและสันติภาพ ข้าพเจ้าหมายถึงสหรัฐอเมริกา…”

และทรงรับสั่งต่อจนถึงบทส่งท้ายว่า

“…สัมพันธภาพระหว่างสองประเทศมิเคยมีความด่างพร้อย กับมีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดยิ่งด้วยไมตรีจิตต่อกัน จึงทรงตั้งพระหทัยที่จะได้เห็นความร่วมมือกระชับที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น แสดงแก่โลกว่า สหรัฐฯ และไทยมีความประสงค์และยึดมั่นอันเดียวกัน และจะชักนำไปสู่สิ่งเดียวกันก็คือ ประโยชน์ร่วมกัน…”

จากพระราชดำรัสบางตอนดังกล่าว แสดงถึงพระราชปฏิภาณและไหวพริบเป็นที่ประจักษ์ต่อที่ประชุมรัฐสภาสหรัฐฯ ที่พระองค์ทรงเน้นถึง

“…สัมพันธไมตรีอันดีและความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างทั้งสองประเทศ…” ซึ่งเป็นที่กล่าวขานและประทับใจของสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ ในครั้งนั้นเป็นอย่างมาก

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1960 (พ.ศ. 2503) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีแถลงการณ์ร่วมกับประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ โดยประธานาธิบดีได้แสดงความชื่นชมพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างกลมกลืนและเหมาะสมกับคนไทย และได้ยืนยันกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า สหรัฐอเมริกาจะคงการสนับสนุนรัฐบาลไทยในการพัฒนาประเทศเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทยตลอดไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแสดงพระราชประสงค์ร่วมกับประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ ที่จะรักษาและกระชับความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา ทั้งในลักษณะทวิภาคีและพหุภาคี โดยเชื่อมั่นว่าจะเป็นการสนองตอบต่อความปรารถนาของประชาชนของทั้งสองประเทศ

ที่น่าสนใจ คือ ในโอกาสที่ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ได้เข้าเฝ้าฯ ที่ทำเนียบขาวในช่วงการเสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกาซึ่งปรากฏในเอกสารของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฉบับที่ 15 ระหว่างปี ค.ศ. 1958-1960 และได้รับการเปิดเผยในเวลาต่อมา ในเอกสารฉบับดังกล่าวได้กล่าวถึงพระราชปฏิสันถารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในการเข้าเฝ้าฯ เป็นเวลา 45 นาที ซึ่งดำเนินไปอย่างเป็นมิตรไมตรีจิต ทรงแสดงพระอัจฉริยภาพในการตอบคำถามประธานาธิบดี เรื่องสภาวะการส่งออกข้าวของไทย การพัฒนายางพารา สถานการณ์แร่ดีบุก ตลอดจนการส่งเสริมการลงทุนของต่างประเทศในไทย

นอกจากนี้แล้ว ระหว่างการเยือนสหรัฐอเมริกา ในครั้งนี้ พระองค์ยังได้เสด็จฯ เยือนเมืองแคมบริดจ์ นครบอสตัน โดยเสด็จฯอไปยังโรงพยาบาล Mt. Aubern ซึ่งมีชาวอเมริกันเฝ้ารับเสด็จฯ เพื่อชื่นชมพระบารมีตลอดสองข้างทาง ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานตลับทองคำสลักพระปรมาภิไธยแก่นางพยาบาล 4 คนที่ได้ถวายการอภิบาลพระองค์ในช่วงหลังพระราชสมภพ นาง Leslie H. Leighton ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะนางพยาบาล กล่าวอย่างรำลึกได้ว่า

“พระองค์ทรงเป็นทารกที่น่ารัก พระชนกและพระชนนีก็ทรงสมถะและไม่โอ้อวดเลย”

พระองค์ได้กล่าวแก่แขกผู้มีเกียรติในเวลาต่อมาว่า

“ฉันเกิดที่นี่ พระชนกและพระชนนีก็ทรงศึกษาที่นี่ แต่บอสตันมีความหมายมากกว่านั้น เพราะบอสตัน คือ สถานที่กำเนิดของประเทศของท่าน (สหรัฐอเมริกา) วิญญาณของเสรีภาพจึงมีความแข็งแกร่งอย่างมากที่นี่”

k2

สำหรับการเสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกาครั้งที่สอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 6 – 20 มิถุนายน และ ระหว่างวันที่ 24 – 29 มิถุนายน 2510 ในครั้งนั้น ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จฯ เมืองโฮโนลูลู มลรัฐฮาวาย เป็นครั้งที่ 2 เพื่อทรงประกอบพิธีเปิดศาลาไทยในบริเวณ East-West Center มหาวิทยาลัยฮาวายอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2510 ซึ่งศาลาไทยหลังดังกล่าวได้พระราชทานเป็นของขวัญให้กับสถาบัน East-West Center มลรัฐฮาวาย เมื่อปี 2507 ถือเป็นสัญลักษณ์ในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐอเมริกาในระดับท้องถิ่น

นาย Charles E. Morrison ประธาน East-West Center ในปัจจุบันเคยกล่าวว่า นักศึกษาของสถาบันฯ ได้ใช้ประโยชน์ในการนั่งอ่านหนังสือและพักผ่อนระหว่างรอเรียนบ่อยครั้ง เนื่องจากศาลาไทยมีความสงบและร่มรื่น อย่างไรก็ดี ด้วยกาลเวลาที่ผ่านไป ศาลาไทยหลังดังกล่าวได้ทรุดโทรมลง ดังนั้น รัฐบาลไทยและสถาบัน East-West Center ได้ร่วมกันบูรณะศาลาหลังดังกล่าวให้กลับสู่สภาพเดิมจนเสร็จสมบูรณ์ และสถาบันฯ ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดศาลาไทยที่ได้บูรณะใหม่นี้ และจะทรงเป็นผู้แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการรับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล Asia Pacific Community Building Award โดยสถาบัน East-West Center จะจัดพิธีการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลที่ศาลาไทยในปี 2551

นอกจากมลรัฐฮาวายแล้ว ในระหว่างการเสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการครั้งที่สอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ เยือนมลรัฐแมสซาชูเซตส์ และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้วิทยาลัย Williams College ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ด้านนิติศาสตร์ จากนั้น พระองค์เสด็จฯ เยือนกรุงวอชิงตันและพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ประธานาธิบดี Lyndon B. Johnson (ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2506 – 2512) เข้าเฝ้าฯ ด้วย

การเสด็จฯ สหรัฐอเมริกาของล้นเกล้าฯ สองพระองค์ทั้งสองครั้งนั้น เป็นที่กล่าวขวัญและตราตึงใจต่อชาวอเมริกันไม่รู้ลืม นาย James Carouso อดีตที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เคยเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ในวัยเยาว์ได้มีโอกาสเฝ้ารอรับเสด็จฯ ชื่นชมพระบารมีของราชอาตันตุกะจากประเทศไทย เมื่อครั้งเสด็จฯ เยือนนครนิวยอร์ก ในปี 2510

“มีประชาชนชาวอเมริกันจำนวนมากเฝ้ายืนรอชื่มชมพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระ เจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตลอดสองฟากถนนที่เสด็จฯ ผ่าน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทั้งสองพระองค์ทรงโบกพระหัตถ์ต่อประชาชนอเมริกันขณะประทับขบวนรถพระที่นั่ง แล่นไปตามถนน นับเป็นความประทับใจที่ยังจดจำอยู่จนถึงปัจจุบันนี้”

พระราชกรณียกิจที่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์นานับประการแก่ประเทศไทย ประชาชนไทย ตลอดจนแก่ชาวอเมริกัน พระอัจฉริยภาพในการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างไทย-สหรัฐอเมริกา เป็นที่ประจักษ์จึงไม่น่าแปลกใจที่รัฐสภาสหรัฐฯ ได้ออกข้อมติ (Congressional Resolution) เพื่อเทอดพระเกียรติและถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสต่างๆ ได้แก่ ข้อมติ ลงวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1987 (พ.ศ 2530) โดยนาย Richard C. Shelby สมาชิกสภาวุฒิสภาจากมลรัฐแอละแบมา ซึ่งดำรงตำแหน่งรักษาการประธานวุฒิสภาสหรัฐฯ ในขณะนั้นเป็นผู้เสนอในโอกาสเฉลิมฉลองพระชนมพรรษา ครบ 60 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2530

ข้อมติ ลงวันที่ 24 มกราคม ค.ศ. 1995 (พ.ศ. 2538) โดยนาย Dana Rohrabacher สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากมลรัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นผู้เสนอในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ครบ 50 ปี ข้อมติ ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ 1995 (พ.ศ. 2538) โดยนาย Bob Clement สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากมลรัฐเทนเนสซีเป็นผู้เสนอ ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ครบ 50 ปี เช่นกัน โดยในข้อมติที่เสนอโดยนาย Clement ดังกล่าวได้เทอดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่เสด็จพระราชสมภพที่สหรัฐอเมริกา และตลอดการครองราชย์ของพระองค์ ทรงแสดงให้เห็นประจักษ์ว่าทรงปฏิบัติตามคำกล่าวในปฐมบรมราชโองการว่า

“เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นที่รักของประชาชนชาวไทยและทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อการพัฒนาในด้านต่างๆ รวมทั้งรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมไทย หากประเทศใดสามารถมีจิตวิญญาณแห่งชาติได้ พระองค์ทรงเปรียบเป็นจิตวิญญาณของประเทศไทย

ล่าสุด ในปี 2549 ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ครบ 60 ปี นาย Jim Leach สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากมลรัฐไอโอวา นาย Tom Lantos สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากมลรัฐแคลิฟอร์เนีย นาย Richard Lugar วุฒิสมาชิกจาก มลรัฐอินดีแอนา และนาย Eni Faleomavaega สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอิสระจากเขตปกครองอเมริกันซามัว ร่วมเสนอข้อมติ ลงวันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549) เพื่อเทอดพระเกียรติ โดยเน้นย้ำถึงการอุทิศพระวรกายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจนได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลพิเศษความสำเร็จสูงสุดตลอดพระชนม์ชีพเป็นครั้งแรกในด้านการพัฒนา ทรัพยากรมนุษย์ จากองค์การสหประชาชาติ รวมทั้งยังได้ย้ำถึงความสัมพันธ์อันเป็นพิเศษที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีกับประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากพระองค์เสด็จพระราชสมภพที่เมืองเคมบริดจ์ มลรัฐแมสซาชูเซตส์ นอกจากนี้แล้ว ยังมีข้อมติที่ออกโดยรัฐสภาสหรัฐฯ อีกหลายฉบับ เพื่อเทอดพระเกียรติและถวายพระพรสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนตุลาคม 2545 อันเป็นการแสดงถึงการยอมรับอย่างสูงของสหรัฐอเมริกาต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ไทยและการที่สหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของไทยกับ สหรัฐอเมริกาอีกด้วย

สรุป

ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทาง การมีจุดเริ่มจากการที่ทั้งสองฝ่ายจัดทำสนธิสัญญาไมตรีและการพาณิชย์ เมื่อปี 2399 ในรัชกาลที่ 3 และได้พัฒนาขึ้นตามลำดับในทุกรัชกาลจนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ล้วนมีพระอัจฉริยภาพในการเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ รวมทั้งกับประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจในโลกปัจจุบัน การเสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จ พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทั้งสองครั้ง นับเป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ที่มีคุณูปการแก่ชาติบ้านเมือง และคนทั้งชาติอย่างหาที่เปรียบไม่ได้ ทรงสร้างความประทับใจให้กับคนอเมริกัน ด้วยพระราชดำรัสสั้นๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกในขณะนั้นที่ทรงมีต่อประเทศสหรัฐอเมริกา และคนอเมริกันที่ว่า

“…ในส่วนตัวของข้าพเจ้าเองแล้ว การมาครั้งนี้นับว่าเป็นความสำคัญมากอยู่ ข้าพเจ้าเกิดในประเทศนี้เอง ฉะนั้น จึงพูดได้ว่าสหรัฐอเมริกาคือเมืองมารดาของข้าพเจ้า การมาเยือนครั้งนี้ทำให้รู้สึกตื่นเต้นมาก รู้สึกดีใจเหมือนได้เดินทางกลับบ้าน…”

ซึ่งได้เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ส่งผลถึงสัมพันธภาพอันดีและความร่วม มืออย่างใกล้ชิดระหว่างสหรัฐอเมริกาและประเทศไทยนับเป็นเวลาหลายทศวรรษจนถึงปัจจุบัน

 

ที่มา: US Watch