วันที่นำเข้าข้อมูล 24 มี.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 7 มิ.ย. 2566

| 8,613 view

ประวัติ

จาก สนธิสัญญาไมตรีและการพาณิชย์ถึงสงครามโลกครั้งที่ 2

ไทยและสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์มายาวนาน โดยเริ่มต้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2376 จากที่ทั้งสองฝ่ายมีสนธิสัญญาไมตรีและการพาณิชย์ (Treaty of Amity and Commerce) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โดยในปีดังกล่าว ประธานาธิบดี Andrew Jackson ของสหรัฐฯ (ดำรงตำแหน่งปี 2372-2380) ได้ส่งนาย Edmund Roberts เป็นเอกอัครราชทูตเดินทางมายังกรุงเทพฯ พร้อมทั้งนำสิ่งของมาทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ซึ่งรวมถึงดาบฝักทองคำที่ด้ามสลักเป็นรูปนกอินทรีและช้าง และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ได้พระราชทานสิ่งของตอบแทนซึ่งเป็นของพื้นเมือง เช่น งาช้าง ดีบุก เนื้อไม้ และกำยาน เป็นต้นโดยภารกิจสำคัญของนาย Robert คือการเจรจาจัดทำสนธิสัญญาทางการค้ากับไทย เช่นเดียวกับที่ไทยได้ทำสนธิสัญญาและข้อตกลงทางการค้ากับสหราชอาณาจักรเมื่อ ปี 2369

การจัดส่งคณะทูตสหรัฐฯ มายังไทยแสดงให้เห็นถึงความสนใจของสหรัฐฯ ที่จะติดต่อค้าขายกับไทยตั้งแต่ในช่วงต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ หลังจากที่ได้มีชาติตะวันตกอื่นๆ เช่น โปรตุเกส และสหราชอาณาจักร ได้เข้ามาค้าขายกับไทยอยู่ก่อนแล้ว ทั้งนี้ ไทยและสหรัฐฯ ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการในปี 2376

อย่างไรก็ดี ในช่วงก่อนหน้านั้นปรากฏหลักฐานการติดต่อระหว่างทั้งสองประเทศตั้งแต่ต้น สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีเรือกำปั่นของชาวสหรัฐฯ ลำแรก โดยมีกัปตันแฮน (Captain Han) เป็นนายเรือได้แล่นเรือบรรทุกสินค้าผ่านลำน้ำเจ้าพระยาเข้ามาถึงกรุงเทพฯ เมื่อปี 2364 หรือในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แต่ไม่มีความต่อเนื่องเพราะที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ห่างไกลกัน และสหรัฐฯ ไม่ค่อยความสนใจหรือมีผลประโยชน์ในภูมิภาคนี้ โดยสหรัฐฯ มีสถานกงสุลเพียงแห่งเดียวในภูมิภาคนี้ที่ปัตตาเวีย (กรุงจาการ์ตาในปัจจุบัน)

แม้ว่าทั้งสองฝ่ายจะมีสนธิสัญญาไมตรีและการพาณิชย์ความสัมพันธ์กันอย่างเป็นทางการ รวมทั้งเรือสินค้าสหรัฐฯ ได้เริ่มต้นเดินทางมาถึงไทยแล้วก็ตาม แต่ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศก็ยังไม่ขยายตัว เนื่องจากไม่มีการติดต่อที่ใกล้ชิด รวมทั้งการค้ากับต่างประเทศของไทยโดยเฉพาะกับประเทศตะวันตกก็ยังไม่ขยายตัว เนื่องจากฝ่ายไทยยังคงบังคับใช้กฎเกณฑ์ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการค้ากับต่างประเทศ และยังคงมีการผูกขาดกิจการต่างๆ แต่ในช่วงต้นของความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ คณะบาทหลวงสหรัฐฯ มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ในระดับประชาชนสู่ประชาชน ในขณะที่ความสัมพันธ์ในระดับรัฐต่อรัฐยังไม่เป็นรูปธรรมนัก โดยเมื่อปี 2374 บาทหลวง David Abeel, M.D. มิชชันนารีชาวสหรัฐฯ ได้เดินทางมาไทยและพำนักอยู่ในกรุงเทพฯ หลังจากนั้น คณะบาทหลวงอีกหลายคณะได้เดินทางและมาพำนักในไทย อย่างไรก็ดี คณะบาทหลวงสหรัฐฯ ไม่ประสบความสำเร็จในภารกิจการเผยแพร่ศาสนาเท่าใดนัก แม้ว่าพระมหากษัตริย์ไทยไม่ได้ทรงขัดขวางการเผยแพร่ศาสนา “มีผู้กล่าวไว้ว่า ไม่มีประเทศใดที่มิชชันนารีจะได้รับการต่อต้านการเผยแพร่ศาสนาน้อยที่สุด หรือเกือบไม่มีเลยเท่าประเทศไทย และก็ไม่มีประเทศใดที่คณะมิชชันนารีได้รับผลสำเร็จน้อยที่สุดเท่าประเทศไทยเช่นเดียวกัน” แต่คณะบาทหลวงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาในหลายด้าน เช่น การศึกษาโดยเฉพาะการสอนภาษาอังกฤษ การจัดตั้งสถาบันการศึกษาที่สำคัญๆ ได้แก่ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ โรงเรียนปรินส์รอยัล และโรงเรียนดาราวิทยาลัยที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น ด้านการแพทย์และสาธารณสุข คณะบาทหลวงสหรัฐฯ มีบทบาทอย่างมากในการพัฒนาการแพทย์สมัยใหม่ในไทย โดยเฉพาะนายแพทย์ Danial B. Bradley ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกการรักษาไข้ทรพิษและอหิวาตกโรค รวมทั้งเป็นผู้จัดตั้งโรงพิมพ์หนังสือพิมพ์แห่งแรกในไทย และพำนักอยู่ในไทยเป็นเวลาเกือบ 40 ปี นอกจากนี้ คณะบาทหลวงสหรัฐฯ ยังมีส่วนในการจัดตั้งโรงพยาบาลแห่งแรกที่จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดอื่นๆ เช่น ลำปาง ตรัง นครศรีธรรมราช รวมทั้งโรงพยาบาลแมคคอมิกส์ที่จังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งมีส่วนสำคัญในการพัฒนาการเรียนการสอนของโรงเรียนแพทย์โรงพยาบาลศิริราชด้วย

ในส่วนของไทย พระมหากษัตริย์ทรงมีบทบาทอย่างมากในการส่งเสริมและกระชับความสัมพันธ์กับ สหรัฐฯ โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ได้ทรงมีพระราชสาส์นไปถึงประธานาธิบดีสหรัฐฯ หลายครั้ง โดยครั้งแรกทรงมีพระราชสาส์นไปถึงประธานาธิบดี Franklin Pierce (ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2396 -2400) เมื่อปี 2399 รวมทั้งในปี 2404 หลังจากทรงได้รับสารตอบรับจากประธานาธิบดี James Buchanan (ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2400 – 2404) พร้อมสิ่งของทูลเกล้าฯ ถวาย ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าทรงมีพระราชสาส์นถึงประธานาธิบดี Buchanan เสนอที่จะพระราชทานช้างให้กับสหรัฐฯ โดยทรงอธิบายเป็นภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เองถึงพระราชประสงค์ที่จะให้สหรัฐฯ นำช้างไปเลี้ยงและขยายพันธุ์ เพื่อใช้ประโยชน์ในการขนส่ง นอกจากนี้ ได้พระราชทานดาบเหล็กกล้าแบบญี่ปุ่นฝักลงรักปิดทอง พร้อมพระบรมฉายาลักษณ์ให้กับประธานาธิบดี Buchanan ด้วย

ในปี 2405 ประธานาธิบดี Abraham Lincoln (ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2404 – 2408) ได้มีสารตอบแสดงความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ โดยได้มอบพระแสงดาบไว้ให้เป็นสมบัติของชาติ และกราบบังคมทูลเกี่ยวกับพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานช้างแก่สหรัฐฯ ว่าสภาพอากาศในสหรัฐฯ ไม่เหมาะสมกับช้าง รวมทั้งมีเครื่องจักรไอน้ำที่มีประสิทธิภาพสำหรับการขนส่งภายในประเทศอยู่แล้ว

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้อดีตประธานาธิบดี Ulysses S. Grant เข้าเฝ้าฯ เมื่อครั้งที่ประธานาธิบดี Grant เดินทางเที่ยวรอบโลกและแวะผ่านไทยเมื่อปี 2422 ซึ่งทรงให้การต้อนรับอย่างสมเกียรติ รวมทั้งอดีตประธานาธิบดี Grant ได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ เยือนสหรัฐฯ ด้วย นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ได้ทรงเผยแพร่ชื่อเสียงประเทศไทยด้วยการพระราชทานเครื่องดนตรีไทยหลายชนิด ให้กับสถาบัน Smithsonian และพระราชทานสิ่งของเข้าร่วมในงานแสดงสินค้าระดับโลกในโอกาสต่างๆ เช่น เมื่อปี 2419 ในงานนิทรรศการในวาระครบรอบ 100 ปี ของสหรัฐฯ ที่เมืองฟิลาเดลเฟีย มลรัฐเพนซิลเวเนีย เมื่อปี 2436 ในงานมหกรรมโลกที่นครชิคาโก มลรัฐอิลลินอยส์ และเมื่อปี 2447 ในงานออกร้านในวาระเฉลิมฉลองการซื้อดินแดนหลุยเซียนา ที่เมืองเซนต์หลุยซ์ มลรัฐมิสซูรี ด้วย

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่เสด็จฯ เยือนสหรัฐฯ เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อปี 2445 และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้เสด็จฯ เยือนสหรัฐฯ ครั้งแรกเมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกฯ ในปี 2467 เพื่อทรงรักษาพระเนตร และเมื่อขึ้นครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ พร้อมด้วยพระนางเจ้ารำไพพรรณี เสด็จฯ เยือนสหรัฐฯ อีกครั้งในปี 2473 ซึ่งในการเสด็จฯ ครั้งนั้น ได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ประธานาธิบดี Herbert Hoover (ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2472 – 2476) เข้าเฝ้าฯ และพระราชทานสัมภาษณ์หนังสือพิมพ์สหรัฐฯ หลายฉบับ รวมทั้งเสด็จฯ เยือนเมืองสำคัญๆ ในมลรัฐต่าง ๆ ของสหรัฐฯ หลายแห่งด้วย

นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เคยประทับอยู่ในสหรัฐฯ เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดชประสูติในสหรัฐฯ เมื่อครั้งที่สมเด็จพระราชบิดาของทั้งสองพระองค์ ทรงศึกษาวิชาแพทย์ที่สหรัฐฯ ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ เยือนสหรัฐฯ 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อปี 2503 ซึ่งได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ประธานาธิบดี Dwight D. Eisenhower (ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2496 -2504) เข้าเฝ้าฯ ทรงมีกระแสพระราชดำรัสต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภาสหรัฐฯ รวมทั้งได้เสด็จฯ เยือนเมืองสำคัญในมลรัฐต่างๆ ของสหรัฐฯ การเสด็จฯ เยือนสหรัฐฯ ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2510 ทรงประกอบพิธีเปิดศาลาไทยในบริเวณ East- West Center มหาวิทยาลัยฮาวาย เมืองโฮโนลูลู มลรัฐฮาวาย พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้วิทยาลัย William College มลรัฐแมสซาซูเซตส์ ทูลเกล้าถวายปริญญญาดุษฎีบัณทิตกิตติมศักดิ์ ด้านนิติศาสตร์ และพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ประธานาธิบดี Lyndon B. Johnson (ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2506 – 2512) เข้าเฝ้าฯ ด้วย นอกจากนี้ รัฐสภาสหรัฐฯ ได้ออกข้อมติเทิดพระเกียรติและถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสต่างๆ อันเป็นการแสดงถึงการยอมรับอย่างสูงของสหรัฐฯ ต่อพระมหากษัตริย์ไทยและการที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของไทยกับสหรัฐฯ

ในช่วงที่ไทยจำเป็นต้องดำเนินนโยบายให้พ้นภัยคุกคามจากลัทธิอาณานิคมของ ประเทศมหาอำนาจยุโรป ที่ปรึกษาชาวสหรัฐฯ ซึ่งเป็นชาติที่มีความเป็นกลาง และไม่ได้แข่งขันทางผลประโยชน์ต่างๆ โดยเฉพาะการแสวงหาอาณานิคมกับประเทศยุโรปในภูมิภาค ได้เข้ามีบทบาทในการเป็นที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศ การศาล การพัฒนา และคำปรึกษาทั่วไปให้กับไทยโดยที่ปรึกษาชาวสหรัฐฯ คนแรก ได้แก่ นาย Edward H. Strobel ซึ่งมีส่วนสำคัญในการคลี่คลายปัญหาข้อพิพาทด้านพรมแดนฝั่งตะวันออกระหว่าง ไทยกับฝรั่งเศส รวมทั้งช่วยเจรจากับฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรให้ผ่อนผันในเรื่องสิทธิสภาพ นอกอาณาเขต นอกจากนี้ นาย Jen I. Westengard ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาราชการแผ่นดินระหว่างปี 2450-2458 มีบทบาทในเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ต่อมาได้รับพระราชทานพระราชบรรดาศักดิ์เป็นพระยากัลยาณไมตรีในสมัยรัชกาลพระ บาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ และในปี 2468 นาย Francis B. Sayre (ซึ่งได้รับพระราชทานพระราชบรรดาศักดิ์เป็นพระยากัลยาณไมตรีด้วยเช่นกัน) มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขสนธิสัญญาระหว่างไทยกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะด้านศุลกากรและกฎหมาย รวมทั้งมีบทบาทในการช่วยเหลือไทยภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อนาย Sayre ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาสหประชาชาติเพื่อการบรรเทาทุกข์ และบูรณะความเสียหายของประเทศ (The United Nations Relief and Rehabilitation Administration -UNRRA)

การที่ไทยไม่ได้รับความช่วยเหลือจากฝ่ายพันธมิตรในการป้องกันประเทศจากการที่ญี่ปุ่นเดินทางทัพเข้ามาในดินแดนไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ไทยจำเป็นต้องประกาศสงครามกับสหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ ในปี 2485 อย่างไรก็ดี รัฐบาลสหรัฐฯ ในขณะนั้น ไม่ได้ประกาศสงครามกับไทย เนื่องจากมีการจัดตั้งเสรีไทยในสหรัฐฯ และรัฐบาลสหรัฐฯ ให้การสนับสนุน รวมทั้งการจัดตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นในไทย ซึ่งมีผลอย่างมากต่อสถานการณ์ภายหลังสงครามของไทยที่สหรัฐฯ สนับสนุนท่าทีที่ผ่านมาของไทย โดยถือว่าไทยไม่ได้เป็นคู่สงครามแต่เป็นดินแดนที่ถูกยึดครอง (occupied territory) ในระหว่างสงคราม ภายหลังสงครามสหรัฐฯ ได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยในทันที รวมทั้งช่วยเหลือไทยในการเจรจาให้สหราชอาณาจักรลดข้อเรียกร้องและการตั้ง เงื่อนไขต่างๆ จำนวน 21 ข้อ ที่กำหนดขึ้นภายหลังสงครามกับไทย โดยสหรัฐฯ มีบทบาทสำคัญในการเจรจากับสหราชอาณาจักรให้กับไทย รวมทั้งสนับสนุนและให้คำปรึกษาการกับไทยในการเจรจากับฝรั่งเศสและรัสเซีย เพื่อเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติในปี 2489

 

สถานการณ์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ความร่วมมือด้านการทหารและความมั่นคง และสงครามเวียดนาม

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทย-สหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมากขึ้น และปรับเปลี่ยนจากความสัมพันธ์ฉันท์มิตรประเทศธรรมดา (ordinary friendship) เป็นการมีความสัมพันธ์พิเศษ (special relationship) ระหว่างกัน เนื่องจากการที่สหรัฐฯ ก้าวขึ้นเป็นประเทศมหาอำนาจที่สำคัญภายหลังสงคราม มีปัจจัยภายในที่สนับสนุนให้สหรัฐฯ กำหนดนโยบายทางการทูตและเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่เปิดกว้างมากขึ้น เช่น การขยายตัวทางเศรษฐกิจภายในประเทศและความต้องการวัถตุดิบเพื่อรองรับการขยายตัวดังกล่าว ตลอดจนกระแสการผลักดันอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตยของสหรัฐฯ ให้กับประเทศต่างๆ ทั่วโลก ประกอบกับปัจจัยภายนอกที่สำคัญ ได้แก่ การที่ประเทศมหาอำนาจเดิม อาทิ สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส เริ่มต้นลดบทบาทในภูมิภาคลง ในขณะที่ภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะความวิตกกังวลต่อการรุกคืบหน้าของระบอบคอมมิวนิสต์จากเหตุการณ์ สงครามเกาหลีและการเปลี่ยนแปลงการปกครองในจีนมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสหรัฐฯ เห็นว่า เป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อความมั่นคงและผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ในช่วงภายหลังสงครามโลก สหรัฐฯ ยังลังเลที่จะเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคโดยตรง แต่พยายามสนับสนุนให้มหาอำนาจยุโรปที่เคยมีอาณานิคมกลับเข้ามามีบทบาทเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับภูมิภาค โดยเห็นว่าการสนับสนุนกระบวนการชาตินิยม (nationalism) เพื่อเรียกร้องเอกราชของประเทศในภูมิภาค อาจเป็นช่องทางการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ได้

อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศที่เป็นผลให้ ความสัมพันธ์ภายหลังสงครามโลกระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพโซเวียตเสื่อมทรามลง การรุกคืบหน้าของลัทธิคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคต่างๆ ของโลก ทำให้สหรัฐฯ ซึ่งมีแนวทางการดำเนินนโยบายต่อต้าน (anti) และปิดล้อม (containment) การแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องเข้ามามีบทบาทโดยตรงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเริ่มจากการศึกษาประเมินความต้องการความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจและการ พัฒนา ความมั่นคง การทหารและการป้องกันประเทศของประเทศในภูมิภาค รวมทั้งประเทศไทยด้วย ในขณะเดียวกัน ไทยก็มีแนวทางการดำเนินนโยบายด้านความมั่นคงที่สอดคล้องกับสหรัฐฯ โดยเมื่อสงครามเกาหลีเกิดขึ้น (2493) ไทยได้มีการดำเนินการในแนวทางที่สอดคล้องกับสหรัฐฯ และประสงค์จะเห็นสหรัฐฯ เข้ามามีบทบาทในการรักษาเสถียรภาพทางการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาค โดยเฉพาะความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศเพื่อนบ้านของไทย โดยเมื่อสงครามเกาหลีเกิดขึ้น ไทยได้ประกาศส่งข้าวจำนวน 20,000 ตัน และทหารจำนวน 4,000 นายไปช่วยเหลือสหประชาชาติในสงครามเกาหลี และให้การรับรองรัฐบาลเบาได๋ของเวียดนามที่สหรัฐฯ ให้การสนับสนุน ในขณะที่สหรัฐฯ ได้เริ่มต้นจัดส่งคณะผู้แทนทางทหารมาไทย เพื่อประเมินความต้องการด้านการป้องกันประเทศ และต่อมาทั้งสองฝ่ายได้ลงนามความตกลงช่วยเหลือทางการทหาร โดยสหรัฐฯ ได้จัดยุทโธปกรณ์และฝึกอบรมให้กับกองทัพไทย รวมทั้งเริ่มให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการในสาขาต่างๆ แก่ไทย อาทิ การสนับสนุนการจัดตั้งสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ การพัฒนาการเกษตร การพัฒนาชนบท สาธารณสุข การศึกษา การก่อสร้างเส้นทางคมนาคมขนส่ง สนามบิน และท่าเรือ การศึกษา โดยสถาบันการศึกษาของสหรัฐฯ มีส่วนสนับสนุนการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาค การฝึกอบรมบุคลากรทางการศึกษา การให้ทุนการศึกษาและฝึกอบรม เป็นต้น รวมทั้งจัดตั้งหน่วยงานและจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาปฏิบัติงานให้ความช่วย เหลือแก่ไทย เช่น U.S. Agency for International Development (USAID), The Joint U.S. Military Assistance Group (JUSMAG) เป็นต้น

โดยที่ในช่วงทศวรรษที่ 1960 – 1970 ความร่วมมือด้านการทหารและความมั่นคงเป็นพื้นฐานสำคัญของภาพรวมความสัมพันธ์ ไทย-สหรัฐฯ โดยเฉพาะในช่วงที่ฝรั่งเศสเริ่มต้นเจรจากับฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์ใน เวียดนาม ฝ่ายคอมมิวนิสต์เข้าครอบครองพื้นที่ทางตอนเหนือของเวียดนามได้ ในขณะที่ประธานาธิบดี Eisenhower มีนโยบายที่เด่นชัดมากขึ้นในการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ในเอเชีย และได้เป็นแกนนำหลักในการชักชวนให้ประเทศในเอเชียรวมตัวกันเพื่อป้องกันประเทศจากภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ โดยสหรัฐฯ ได้ร่วมกับไทย ฟิลิปปินส์ ปากีสถาน อิตาลี ฝรั่งเศส นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร ลงนามในสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (The Southeast Asia Collective Defense Treaty หรือ Manila Pact) ที่กรุงมะนิลา เมื่อปี 2497 ซึ่งได้นำไปสู่การก่อตั้งองค์การสนธิสัญญาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (The Southeast Asia Treaty Organization – SEATO) นอกจากนี้ ไทยและสหรัฐฯ ยังมีความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศระหว่างกันในกรอบทวิภาคี ตามแถลงการณ์ร่วมของนายถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนาย Dean Rusk รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ (Rusk-Thanat Communique’) เมื่อปี 2505 ที่ย้ำถึงการเป็นพันธมิตรทางสนธิสัญญาระหว่างกันของไทยและสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ ถือว่าเอกราชและ บูรณภาพของไทยมีความสำคัญยิ่งต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ และสันติภาพของโลก และจะให้การปกป้องไทยจากการรุกรานตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญ

เมื่อสถานการณ์ความขัดแย้งในอินโดจีนขยายตัวออกไปจนกระทั่งสหรัฐฯ ต้องเข้ามามีบทบาทในการรักษาเสถียรภาพของรัฐบาลเวียดนามใต้ ไทยได้ให้ความร่วมมือตามคำร้องขอของสหรัฐฯ โดยให้ใช้สนามบิน และฐานทัพในไทย รวมทั้งจัดส่งทหารจำนวนประมาณ 12,000 นายไปร่วมรบในเวียดนามด้วย โดยสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายของกำลังพล ซึ่งในช่วงดังกล่าว ความช่วยเหลือด้านการทหารของสหรัฐฯ ต่อไทยมีจำนวนสูงขึ้นถึง 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2511 และระหว่าง 2508 – 2513 สหรัฐฯ ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 370 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อปรับปรุงฐานทัพในไทย ในขณะเดียวกันความช่วยเหลือด้านอื่นๆ ได้เพิ่มขึ้นถึง 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยส่วนใหญ่เป็นความช่วยเหลือแก่รัฐบาลไทยในการต่อสู้เพื่อเอาชนะผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท ผ่านโครงการส่งเสริมความมั่นคง การพัฒนาชนบท การสาธารณสุข การเกษตร และการศึกษา เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ในช่วงทศวรรษที่ 1970 – 1980 สหรัฐฯ ได้ลดบทบาทการมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับความขัดแย้งในอินโดจีน ซึ่งการปรับเปลี่ยนท่าทีทางนโยบายดังกล่าว เป็นผลจากกระแสการต่อต้านสงครามในสหรัฐฯ การเปลี่ยนแปลงนโยบายของสหรัฐฯ หลังจากที่ประธานาธิบดี Richard Nixon (ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2512 – 2517)ได้ประกาศนโยบาย Nixon Doctrine ซึ่งระบุว่า สหรัฐฯ จะไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในภูมิภาคเอเชียด้วยการส่งทหารสหรัฐฯ เข้าไปโดยตรง แต่ประเทศในเอเชียต้องรับภาระการป้องกันประเทศด้วยตนเอง โดยสหรัฐฯ จะสนับสนุนความช่วยเหลือทางทหารและเศรษฐกิจด้านอื่นๆ แก่ประเทศเหล่านั้น ประกอบกับปัญหาเศรษฐกิจและสังคมภายในของสหรัฐฯ ที่ขยายตัวจากช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เป็นส่วนสนับสนุนกระแสต่อต้านสงครามมากยิ่งขึ้น ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ลดบทบาทและการใช้จ่ายงบประมาณสำหรับกิจการต่างประเทศลง และหันมาให้ความสำคัญกับนโยบายภายในประเทศ และตัดทอนงบประมาณการต่างประเทศมาสนับสนุนการแก้ไขปัญหาภายในประเทศ นอกจากนี้ การเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนโดยประธานาธิบดี Nixon เดินทางไปเยือนกรุงปักกิ่งในปี 2514 เป็นสัญญาณที่สำคัญต่อการปรับเปลี่ยนนโยบายการต่างประเทศในแนวทางที่สหรัฐฯ จะลดบทบาททางความมั่นคงและทางทหารในภูมิภาคลง

การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางการเมืองระหว่างประเทศหลังสหรัฐฯ สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน และการถอนทหารของสหรัฐฯ จากอินโดจีน ทำให้ไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินนโยบายต่างประเทศ และหลังการลงนามข้อตกลงสันติภาพเพื่อยุติสงครามเวียดนามอย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2516 กระแสต่อต้านสหรัฐฯ ในไทยเพิ่มมากขึ้น การเรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษา ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทย ยิ่งมีส่วนส่งเสริมให้กระแสต่อต้านสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น มีการเรียกร้องให้สหรัฐฯ ถอนทหารออกจากประเทศไทย และเมื่อเกิดเหตุการณ์เรือสินค้า Mayaguez เมื่อปี 2518 ซึ่งทหารสหรัฐฯ ได้พยายามช่วยเหลือลูกเรือจากฝ่ายเขมรแดง โดยใช้ฐานทัพในไทยโดยไม่ได้ขออนุญาต รัฐบาลไทยได้ดำเนินการประท้วง และแจ้งให้ฝ่ายสหรัฐฯ ดำเนินการถอนทหารออกจากไทยทั้งหมดภายในปี 2519

ในช่วงสงครามเวียดนามนั้น ไทยได้ให้ความร่วมมืออย่างมากกับสหรัฐฯ ในขณะที่ สหรัฐฯ ได้ให้ความช่วยเหลือทางด้านความมั่นคงเป็นจำนวนมากแก่ไทยด้วยเช่นกัน นับได้ว่าทั้งสองฝ่ายได้พึ่งพาอาศัยกันบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกันมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหลังจากที่สหรัฐฯ ถอนกำลังทางทหารออกจากเวียดนาม และปรับเปลี่ยนนโยบายโดยลดบทบาทด้านการเมือง การทหารในภูมิภาคลง แต่สหรัฐฯ ยังคงให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินการของไทยในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคอินโดจีน โดยสหรัฐฯ สนับสนุนทางความพยายามของไทยและสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (The Association of Southeast Asian Nations – ASEAN) ในการแก้ไขปัญหากัมพูชาโดยวิถีทางการเมือง และสนับสนุนการจัดตั้งเวทีประชุมความมั่นคงภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Regional Forum – ARF) ด้วย

ความสัมพันธ์ทางด้านความมั่นคงและการทหารระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แต่มิได้อยู่ในระดับที่ใกล้ชิดเท่ากับในช่วงสงครามเย็น สหรัฐฯ เห็นว่าไทยเป็นพันธมิตรทางทหารที่สำคัญ การฝึกร่วมผสม Cobra Gold ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ซึ่งมีเป็นประจำทุกปี ถือเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นพันธมิตรทางทหาร และเป็นการฝึกร่วมผสมที่ใหญ่ที่สุดที่สหรัฐฯ มีอยู่กับประเทศต่างๆ โดยในระยะหลัง เป็นการฝึกร่วมผสมไทย-สหรัฐฯ มีประเทศอื่นๆ เข้าร่วมฝึกในบางสาขา เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และมองโกเลีย และอีก 16 ประเทศเข้าร่วมสังเกตการณ์ นอกจากนี้ การที่สหรัฐฯ มอบสถานะพันธมิตรสำคัญนอกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (Major Non NATO Ally – MNNA) ให้แก่ไทยเมื่อปี 2546 เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเป็นพันธมิตรในด้านการทหารและความมั่นคงของทั้ง สองฝ่ายอีกระดับหนึ่งด้วย

สรุป

ภาพรวมความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ได้พัฒนาจากจุดเริ่มต้นในประวัติศาสตร์ที่มีความเป็นมายาวนาน จากช่วงต้นรัตนโกสินทร์ เรือสหรัฐฯ ได้เดินทางมาค้าขายในภูมิภาค จนกระทั่งทั้งสองฝ่ายจัดทำสนธิสัญญาไมตรีฯ บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์มีความสำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างกัน นอกจากนี้ มิชชันนารี และที่ปรึกษาชาวสหรัฐฯ ยังมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จนถึงช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง

สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีส่วนทำให้ความสัมพันธ์ต่อกันใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะความช่วยเหลือด้านความมั่นคงที่สหรัฐฯ ให้แก่ไทย ในช่วงการขยายอิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์ในอินโดจีน สงครามเวียดนาม การแก้ปัญหากัมพูชา เป็นต้น

ที่มา: US Watch