วันที่นำเข้าข้อมูล 24 มี.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 12 มิ.ย. 2566

| 8,278 view

การทหาร

ความร่วมมือทางทหารและความมั่นคง

ประเทศไทยและสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ที่ดำเนินมาอย่างใกล้ชิดนับตั้งแต่ได้เริ่มสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต เมื่อปี พ.ศ.2376 ทั้งในด้านการเมือง ความมั่นคง และเศรษฐกิจ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และยุคสงครามเย็น ความสัมพันธ์ได้มุ่งเน้นด้านความมั่นคงซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัจจัยภายนอกที่สำคัญได้แก่ ภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยที่ไทยและสหรัฐฯ มีแนวความคิดสอดคล้องกันที่ต้องการต่อต้านและปิดล้อมการแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ และสหรัฐฯ ในฐานะเป็นผู้นำในการปกป้องลัทธิเสรีนิยมและอุดมการณ์ประชาธิปไตยจึงได้ให้ความสำคัญกับประเทศไทยในฐานะพันธมิตร และเป็นประเทศที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์โดยเฉพาะในเรื่องภูมิรัฐศาสตร์เป็นตัวแทนของโลกเสรีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น ใน พ.ศ.2493 สมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงได้จัดทำความตกลงว่าด้วยความช่วยเหลือทางทหารกับรัฐบาลสหรัฐฯ โดยเน้น เรื่องความมั่นคงเป็นหลัก พร้อมกันนั้นรัฐบาลไทยได้จัดกำลังจากทุกเหล่าทัพสนับสนุนสหรัฐฯ ในสงครามเกาหลี ตามมติสหประชาชาติอันเป็นจุดกำเนิดของการปฏิบัติการร่วมสมัยใหม่ และเป็นการพัฒนาความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ในเวลาต่อมา

ในระยะต่อมา ยังเพิ่มความร่วมมือทางทหารซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือที่สำคัญ โดยผ่านโครงการ IMET และ FMS นอกจากนี้ยังมีการฝึกซ้อมทางทหาร Cobra Gold ซึ่งเป็นการฝึกร่วมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย และขยายเป็นการฝึกแบบพหุภาคีที่มีประเทศในภูมิภาคเข้าร่วมและสังเกตการณ์จำนวนมาก

การฝึกคอบร้าโกลด์ (Cobra Gold) 

การเริ่มต้นการฝึกเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2499 มีการฝึกผสมยกพลขึ้นบกระหว่างกองทัพเรือไทยกับกองทัพเรือและหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินสหรัฐฯ ต่อมาเพื่อให้การฝึกมีลักษณะบูรณาการมากขึ้น ในปี พ.ศ.2525 กองทัพเรือจึงได้รวมการฝึกของกองทัพเรือและกองทัพเรือสหรัฐฯ หลายรหัส การฝึกเข้าด้วยกัน กำหนดเป็นรหัสการฝึกใหม่ เรียกว่า “คอบร้าโกลด์ 82” โดยกองทัพอากาศจัดกำลังเข้าร่วมการฝึกด้วย ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ.2526 กองทัพบกได้จัดหน่วยรบพิเศษเข้าร่วมการฝึกอีกเหล่าทัพหนึ่ง จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการฝึกร่วมและผสมครบทั้ง 3 เหล่าทัพ เป็นครั้งแรกในประเทศไทย

เนื่องจากการฝึกคอบร้าโกลด์มีการพัฒนาอย่างกว้างขวาง ประกอบกับมีกำลังจากทุกเหล่าทัพเข้าร่วมการฝึก ดังนั้นเพื่อให้การฝึกเกิดประสิทธิภาพสูงสุด กองบัญชาการทหารสูงสุด จึงได้เข้ามาจัดการฝึก ตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 ภายใต้รหัสการฝึก “คอบร้าโกลด์ 86” เป็นต้นมา โดยเน้นการฝึกหน่วยทหารในการปฏิบัติการรบตามแบบ ด้วยกำลังขนาดใหญ่ระดับกองกำลังเฉพาะกิจร่วมและผสม เข้าปฏิบัติการในยุทธบริเวณ

ต่อมาเมื่อสงครามเย็นยุติลงอย่างสิ้นเชิงทำให้แนวโน้มของการเกิดสงครามขนาดใหญ่มีความเป็นไปได้น้อย ในปี พ.ศ.2543 การฝึกคอบร้าโกลด์ได้เพิ่มรูปแบบการฝึกให้มีการปฏิบัติการทางทหารนอกเหนือจากสงคราม ภายใต้กรอบของสหประชาชาติเข้าไว้ด้วย เช่นการรักษาสันติภาพ การต่อต้านการก่อการร้าย การบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติ และอื่น ๆ ซึ่งเป็นบทบาทใหม่ของการปฏิบัติการทางทหาร ตามสถานการณ์ด้านความมั่นคงที่เปลี่ยนแปลงไป

พร้อมทั้งขยายขอบเขตการฝึกปัญหาที่บังคับการ จากการฝึกแบบทวิภาคีเป็นการฝึกเป็นพหุภาคี โดยสิงคโปร์เป็นชาติแรกที่เข้าร่วมในการฝึกคอบร้าโกลด์ 2000 นอกจากนี้ เพื่อแสดงออกถึงความโปร่งใส และความร่วมมือระหว่างชาติพันธมิตร จึงเปิดโอกาสให้ประเทศที่สนใจจัดผู้แทนเข้าร่วมสังเกตการณ์การฝึกได้ทั้งในขั้นการวางแผน และขั้นการฝึกปัญหาที่บังคับการ

เมื่อ 5 – 20 กุมภาพันธ์ 2558 มีการฝึกคอบร้าโกลด์ 15 ซึ่งเป็นการฝึกปฏิบัติการร่วม/ผสมทางทหารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตลอด 34 ปี โดยกองทัพไทยและกองทัพสหรัฐอเมริการ่วมกันเป็นเจ้าภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านความมั่นคง กระชับความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างกองทัพมิตรประเทศที่เข้าร่วมการฝึก และดำรงความพร้อมของกองทัพไทยในการปฏิบัติภารกิจร่วมกับกองทัพมิตรประเทศ มีประเทศเข้าร่วมการฝึกหลักจำนวน 7 ประเทศ กำลังพลประมาณ 10,600 นาย ได้แก่ ไทย สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และมาเลเซีย นอกจากนี้ยังมีประเทศที่จัดฝ่ายเสนาธิการเข้าร่วมการฝึกฝ่ายเสนาธิการผสม จำนวน 9 ประเทศ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ บังกลาเทศ อังกฤษ เนปาล มองโกเลีย ออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส และอิตาลี รวมทั้งประเทศที่เข้าร่วมสังเกตการณ์การฝึกจำนวน 6 ประเทศ ได้แก่ ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม กัมพูชา บรูไน และปากีสถาน นอกจากนั้น ยังให้ความสำคัญในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการบรรเทาภัยพิบัติ รวมถึงโครงการช่วยเหลือประชาชน โดยมี กองทัพสาธารณรัฐประชาชนจีน และกองทัพอินเดีย เข้าร่วมในปีนี้ด้วยโดยปฏิบัติการฝึกในพื้นที่จังหวัดลพบุรี ชลบุรี จันทบุรี ระยอง และนครราชสีมา สำหรับการฝึกที่สำคัญในปีนี้ประกอบด้วย การฝึกดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง (CALFEX) และการฝึกอพยพประชาชนออกนอกพื้นที่ขัดแย้ง (NEO/TJNO)

บททดสอบกระบวนการวางแผนและการปฏิบัติการได้นำมาใช้ในเหตุการณ์จริงเมื่อเกิดเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยในมหาสมุทรอินเดีย เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2547 ซึ่งก่อความเสียหายอย่างกว้างขวางในภูมิภาคนี้ กองทัพไทยและสหรัฐฯ ได้ส่งกำลังไปให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนด้วย นอกจากนี้ จากกรณีแผ่นดินไหวในประเทศเนปาลเมื่อเดือนเมษายน 2558 กองทัพทั้งสองฝ่ายก็ยังได้ประสานงานในปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาพัยพิบัติที่ประเทศเนปาลอีกด้วย

IMG_7320

ที่มา: US Watch และ http://j5.rtarf.mi.th/content/2558/580220-1.php