การประชุม Thailand-U.S. Strategic and Defense Dialogue ครั้งที่ ๒ และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ที่กรุงเทพฯ

การประชุม Thailand-U.S. Strategic and Defense Dialogue ครั้งที่ ๒ และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ที่กรุงเทพฯ

วันที่นำเข้าข้อมูล 4 มี.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 4 มี.ค. 2567

| 562 view

เมื่อวันที่ ๒๘-๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงกลาโหมได้ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Strategic and Defense Dialogue (2+2) ไทย-สหรัฐฯ ครั้งที่ ๒ การประชุมการหารือยุทธศาสตร์ไทย-สหรัฐฯ (Strategic Dialogue) ครั้งที่ ๙ ระหว่างกระทรวงการต่างประเทศทั้งสองฝ่าย และการหารือยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันประเทศไทย-สหรัฐฯ (Defense Strategic Talks) ครั้งที่ ๘ ระหว่างกระทรวงกลาโหมทั้งสองฝ่าย ที่กรุงเทพฯ โดยมีนางเอกสิริ ปิณฑะรุจิ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และพลเอก สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธานร่วมฝ่ายไทย และนาย Daniel Kritenbrink ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ด้านกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก และนาย Jedidiah P. Royal รองผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ด้านกิจการความมั่นคงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เป็นประธานร่วมฝ่ายสหรัฐฯ

การประชุมดังกล่าวเป็นการเน้นย้ำถึงความเป็นพันธมิตรไทย-สหรัฐฯ ที่มีมาอย่างยาวนานบนพื้นฐานของค่านิยมและผลประโยชน์ร่วมกัน ที่ประชุมได้หารือถึงการผลักดันความร่วมมือในหลายหลากมิติ ซึ่งสอดคล้องกับแถลงการณ์ว่าด้วยความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทย-สหรัฐฯ อันรวมถึงความร่วมมือด้านความมั่นคงและการทหาร ความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคงด้านสุขภาพ การศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความสัมพันธ์ระดับประชาชน ตลอดจนความร่วมมือในระดับภูมิภาคและพหุภาคี

ทั้งสองฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญของการเพิ่มการปฏิสัมพันธ์ระดับสูงเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด และเห็นพ้องที่จะพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งการประชุม Strategic and Defense Dialogue (2+2) ในระดับรัฐมนตรี นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายจะทำงานร่วมกันเพื่อเพิ่มการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูง ภายหลังจากที่นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เยือนสหรัฐฯ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ และนายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ได้เยือนไทยเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยฝ่ายไทยยินดีที่จะให้การต้อนรับการเยือนไทยของนางจีนา เรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ในเดือนมีนาคม นอกจากนี้ ฝ่ายสหรัฐฯ ยังได้แจ้งคำเชิญเยือนสหรัฐฯ จากนายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ถึงนายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมด้วย

ในด้านความร่วมมือด้านกลาโหมและความมั่นคง ที่ประชุมยินดีกับความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องในความเป็นพันธมิตรด้านกลาโหมที่ดำเนินมาอย่างยาวนานและเป็นเสาหลักของความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ โดยได้หารือเกี่ยวกับการฝึกร่วม/ผสม Cobra Gold ครั้งที่ ๔๓ ที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีการปฏิบัติการร่วมในการสำรวจและเก็บกู้สิ่งอุปกรณ์จำเป็นจากเรือหลวงสุโขทัยในระหว่างการฝึกดังกล่าวด้วย นอกจากนี้ ฝ่ายสหรัฐฯ จะสนับสนุนด้านงบประมาณจำนวน ๒๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถและศักยภาพของกองทัพไทย

ทั้งสองฝ่ายจะทำงานร่วมกันต่อไปเพื่อการจัดตั้งกลไกหารือด้านความมั่นคง (Security Dialogue) ระหว่างสภาความมั่นคงแห่งชาติของทั้งสองประเทศ และตกลงที่จะส่งเสริมความร่วมมือให้มากขึ้นเพื่อรับมือกับประเด็นท้าทายในปัจจุบันและภัยคุกคามรูปแบบใหม่ อาทิ ความมั่นคงทางไซเบอร์ และอาชญากรรมข้ามชาติ ตลอดจนเพิ่มความร่วมมือในด้านข่าวกรอง การแลกเปลี่ยนข้อมูล และการพัฒนาขีดความสามารถแก่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของไทย อีกทั้งที่ประชุมยังเห็นพ้องที่จะจัดตั้ง Strategic Law Enforcement Partnership Dialogue ในระดับผู้ปฏิบัติงาน เพื่อส่งเสริมความพยายามร่วมกันในการรับมือกับอาชญากรรมข้ามชาติอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมความร่วมมือในด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ให้มากขึ้น รวมถึงความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายเพื่อนำไปสู่การจัดตั้ง Cyber Security Dialogue เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านไซเบอร์และดิจิทัล และการรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ทั้งนี้ ฝ่ายสหรัฐฯ ยินดีที่ไทยอยู่ระหว่างการดำเนินกระบวนการภายใน เพื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิก Global Coalition to Address Synthetic Drug Threats ซึ่งเป็นข้อริเริ่มของสหรัฐฯ

ที่ประชุมย้ำถึงการยึดมั่นรักษาค่านิยมร่วมกันของทั้งสองประเทศในด้านประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึงการดำเนินการด้านมนุษยธรรมที่มีมายาวนาน โดยฝ่ายสหรัฐฯ พร้อมที่จะต้อนรับคณะผู้แทนไทยเยือนกรุงวอชิงตันเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์ในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ และเห็นพ้องที่จะร่วมมือกันอย่างแข็งขันในการเสริมสร้างขีดความสามารถและการแลกเปลี่ยนด้านข่าวกรอง นอกจากนี้ ฝ่ายไทยได้ขอรับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ในการสมัครเลือกตั้งในตำแหน่งสมาชิก UN Human Rights Council (HRC) วาระปี ค.ศ. ๒๐๒๕-๒๐๒๗ ด้วย

ในด้านเศรษฐกิจ ที่ประชุมรับที่จะผลักดันความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ทั้งในระดับทวิภาคีและผ่านกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework :IPEF) ในสาขาที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน เช่น การเปลี่ยนผ่านสีเขียว เศรษฐกิจดิจิทัล ยานยนต์ไฟฟ้า และเซมิคอนดักเตอร์ โดยที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ของไทยในการเชื่อมโยงในระดับภูมิภาคและความมุ่งมั่นในการส่งเสริมความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน โดยทั้งสองฝ่ายมีแผนดำเนินการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านห่วงโซ่อุปทานเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการส่งเสริมความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานไทย-สหรัฐฯ และความตกลง IPEF ว่าด้วยความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน

ที่ประชุมยังได้หารือเกี่ยวกับการผลักดันความร่วมมือในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพลังงานสะอาด รวมถึงความร่วมมือผ่านข้อริเริ่ม Net-Zero World Initiative และโครงการความร่วมมือกับองค์การการค้าและการพัฒนาของสหรัฐฯ (USTDA) ตลอดจนการประชุม Thai – U.S. Energy Policy Dialogue  ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพที่กรุงเทพฯ ในเดือนเมษายน ๒๕๖๗

ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านสาธารณสุขที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและเป็นประโยชน์ต่อการรับมือกับความท้าทายด้านสาธารณสุขในทั้งสองประเทศและภูมิภาค โดยมีผู้คนหลายร้อยล้านคนที่ได้รับประโยชน์จากความร่วมมือไทย-สหรัฐฯ ในการต่อสู้กับโรคมาเลเรีย ไข้เลือดออก ไข้สมองอักเสบ และเอชไอวี/เอดส์ ที่ประชุมเห็นพ้องที่จะเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเพื่อพัฒนาขีดความสามารถด้านสาธารณสุขและความมั่นคงด้านสุขภาพระดับโลก โดยในขณะนี้ ฝ่ายไทยอยู่ระหว่างดำเนินกระบวนการพิจารณาเข้าร่วม U.S. Global Health Security Intensive Support Partner นอกจากนี้ ฝ่ายสหรัฐฯ ยังรับจะให้การสนับสนุนวิสัยทัศน์ของไทยที่จะเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ด้วย

ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงแนวทางในการเพิ่มการแลกเปลี่ยนและความเชื่อมโยงในระดับประชาชน โดยตระหนักว่าความสัมพันธ์ระดับประชาชนเป็นพื้นฐานที่แข็งแกร่งของความสัมพันธ์ทวิภาคี ทั้งนี้  ที่ประชุมได้หารือการอำนวยความสะดวกในการเดินทางและให้มีการแลกเปลี่ยนระหว่างกันมากขึ้น โดยฝ่ายไทยสนับสนุนโครงการ International Academic Partnership Program (IAPP) ที่ริเริ่มโดยสหรัฐฯ ซึ่งเชื่อมโยงมหาวิทยาลัยของทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังยินดีต่อการสถาปนาเมืองพี่เมืองน้องระหว่างเชียงใหม่และออสติน รัฐเท็กซัส ซึ่งทำให้ประชาชนทั้งสองฝ่ายมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น

ในโอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับภูมิทัศน์ด้านความมั่นคงระดับโลกและภูมิภาคในปัจจุบัน รวมถึงสถานการณ์ในเมียนมา ทะเลจีนใต้ ภูมิภาคตะวันออกกลาง และยูเครน โดยฝ่ายไทยขอบคุณสหรัฐฯ ที่ให้การสนับสนุนการปล่อยตัวประกันชาวไทย และหวังว่าตัวประกันที่เหลืออยู่ในกาซาจะได้รับการปล่อยตัว นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือถึงการพัฒนาความร่วมมือในระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาค ซึ่งรวมถึงการดำเนินการผ่านกลไกที่มีอยู่ โดยเฉพาะความร่วมมืออาเซียน-สหรัฐฯ ความร่วมมือในกรอบ ACMECS กรอบความร่วมมือหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ (Mekong-U.S. Partnership: MUSP) และ IPEF ซึ่งที่ประชุมยินดีที่จะมีการจัดการประชุมทางไกลของรัฐมนตรี IPEF ที่กรุงเทพฯ ในระหว่างการเยือนไทยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ในเดือนมีนาคมนี้

การประชุม Strategic and Defense Dialogue เป็นโอกาสอันดีสำหรับสองฝ่ายในการขับเคลื่อนความร่วมมือในหลากหลายมิติอย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ โดยการประชุม Strategic and Defense Dialogue ครั้งแรกได้จัดขึ้นที่กรุงวอชิงตันเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๕

ที่มา กระทรวงการต่างประเทศ 
https://www.mfa.go.th/th/content/th-us-sd-2024

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

ข่าวใกล้เคียง

ข่าวใกล้เคียง