เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน หารือแนวทางส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาแรงงานทักษะสูงกับอธิการบดีมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon และพบปะนักศึกษาและชุมชนไทยในเมืองพิตต์สเบิร์ก

เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน หารือแนวทางส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาแรงงานทักษะสูงกับอธิการบดีมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon และพบปะนักศึกษาและชุมชนไทยในเมืองพิตต์สเบิร์ก

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 ส.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 ส.ค. 2567

| 374 view

เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๗ นายสุริยา จินดาวงษ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน พร้อมด้วยนางสาวสมใจ ตะเภาพงษ์ กงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก นายนันทพล สุดบรรทัด ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน ณ นครนิวยอร์ก และนายฐิติเดช ตุลารักษ์ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม) ได้เดินทางเยือนมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon (CMU) เมืองพิตต์เสบิร์ก มลรัฐเพนซิลเวเนีย

 

เอกอัครราชทูตฯ และคณะ ได้พบกับนาย Farnam Jahanian อธิการบดีของ CMU ที่สำนักงานอธิการบดี เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาแรงงานทักษะสูง การยกระดับทักษะด้านดิจิทัลแก่บุคลากรของไทยและความร่วมมือด้านการศึกษาในสาขา STEM เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ เซมิคอนดักเตอร์ และปัญญาประดิษฐ์ของไทยในอนาคต ซึ่งเป็นประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญในลำดับต้นและเป็นประเด็นสืบเนื่องจากการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) กับนาง Gina Raimondo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้นำคณะสภาผู้ส่งออกแห่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ (President’s Export Council: PEC) เดินทางเยือนประเทศไทยเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๖๗ ที่ผ่านมา

 

ภายหลังการหารือ เอกอัครราชทูตฯ และคณะได้เข้าร่วมกิจกรรมพบปะนักศึกษาและชุมชนไทยในเมืองพิตต์สเบิร์ก ซึ่งมีนักศึกษาไทยที่กำลังศึกษาอยู่และบัณทิตที่จบการศึกษาไปแล้ว รวมทั้งชุมชนไทยในเมืองพิตต์สเบิร์กเข้าร่วมกว่า ๓๐ คน ในโอกาสนี้ เอกอัครราชทูตฯ ได้ให้โอวาท ตอบคำถามและแลกเปลี่ยนความเห็นกับนักศึกษาไทยและชุมชนไทย ทั้งในประเด็นเรื่องการศึกษา การใช้ชีวิต ตลอดจนการนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการศึกษาในสหรัฐฯ ไปประยุกต์ใช้เพื่อสนับสนุนการเติบโตและการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ