พิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๖๕

พิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๖๕

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 ม.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 16 ส.ค. 2566

| 1,061 view

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๖๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ในพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๖๕ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พร้อมทั้งพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำ เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลพร้อมคู่สมรส ในวันเดียวกัน ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร โดยมีผู้ได้รับพระราชทานรางวัลฯ ประจำปี ๒๕๖๕ ดังนี้

สาขาการแพทย์ ได้แก่ ศาสตราจารย์นายแพทย์ ราล์ฟ เอ. ดีฟรอนโซ (Professor Dr. Ralph A. DeFronzo) จาก สหรัฐอเมริกา

ศาสตราจารย์นายแพทย์ ราล์ฟ เอ. ดีฟรอนโซ ได้ศึกษากลไกการเกิดโรคเบาหวานและพิสูจน์ได้ว่าโรคอ้วน โดยเฉพาะโรคอ้วนลงพุงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับโมเลกุลที่ทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ ๒ เสนอแนวทางการรักษาโรคเบาหวานแบบเฉพาะบุคคล (personalized treatment) โดยพิจารณาเลือกยาตามกลไกการเกิดโรคในผู้ป่วยแต่ละราย

แนวคิดและผลการศึกษาดังกล่าวเป็นแนวทางที่สำคัญในการป้องกันและรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ ๒ อย่างแพร่หลาย และทำให้มีจำนวนผู้ป่วยและการเกิดภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังลดลงทั่วโลก

สาขาการสาธารณสุข ได้แก่ นายแพทย์ดักลาส อาร์. โลวี (Doctor Douglas R. Lowy) จาก สหรัฐอเมริกา ดร.จอห์น ที. ชิลเลอร์ (Doctor John T. Schiller) จากสหรัฐอเมริกา ศาสตราจารย์นายแพทย์เอียน เอช. เฟรเซอร์ (Professor Ian H. Frazer) จาก สหราชอาณาจักร/ออสเตรเลีย

นายแพทย์ดักลาส อาร์. โลวี และ ดร.จอห์น ที. ชิลเลอร์ ได้ร่วมกันศึกษาวิจัยที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา และค้นพบว่าโปรตีนหลักของอนุภาคไวรัสของฮิวแมนแปบปิลโลมาไวรัส (human papillomavirus) สามารถประกอบร่างกันได้เองเป็นอนุภาคคล้ายไวรัส (VLP) ซึ่งอนุภาคคล้ายไวรัสนี้สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อต้านฮิวแมนแปบปิลโลมาไวรัสได้ดี

ขณะเดียวกัน ศาสตราจารย์นายแพทย์เอียน เอช. เฟรเซอร์ ก็ได้ค้นพบกลไกการประกอบร่างของอนุภาคคล้ายไวรัสนี้เช่นกันในระหว่างที่ทำการศึกษาวิจัยที่มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ออสเตรเลีย การค้นพบนี้นำไปสู่การพัฒนากระบวนการผลิตอนุภาคคล้ายไวรัสจากโปรตีนรีคอมบิแนนท์ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาวัคซีนต่อต้านฮิวแมนแปบปิลโลมาไวรัสที่มีประสิทธิภาพสูงและช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูก และมะเร็งอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับฮิวแมนแปบปิลโลมาไวรัสและลดการเสียชีวิตได้จำนวนมากมายทั่วโลก

รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง ๑๐๐ ปี แห่งการพระราชสมภพ ๑ มกราคม ๒๕๓๕ ดำเนินงานโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน มอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ทางด้านการแพทย์ ๑ รางวัล และด้านการสาธารณสุข ๑ รางวัล เป็นประจำทุกปี แต่ละรางวัลประกอบด้วยเหรียญรางวัล ประกาศนียบัตรและเงินรางวัลจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ